บททาทการตลาด


       จากความหมายของการตลาดข้างต้น บทบาทหน้าที่ของการตลาดจึงต้องเริ่มต้นขึ้นที่ความต้องการของลูกค้า และจบลงที่ความพอใจของลูกค้า เป็นหลัก ดังนี้         
         1. ค้นหา และเข้าใจในความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้มากที่สุด
         2. พัฒนาสินค้า / บริการให้สอดคล้อง ตอบสนองต่อความต้องการนั้น ๆ ไปเสนอแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความพอใจและความสุขในการแลกเปลี่ยน
         3. รักษาความพอใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าไว้ให้ยาวนาน นำเสนอสินค้า / บริการใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปตามความต้องการ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาของลูกค้าได้

กลยุทธ์การตลาด (marketing strategy)  

การวางกลยุทธ์การตลาดถือเป็นงานขั้นตอนสำคัญในกระบวนการวางแผนการตลาด โดยทั้งนี้กลยุทธ์การตลาดแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
         1. กลยุทธ์แก่น (core strategy) หรือกลยุทธ์การมุ่งส่วนตลาด (target marketing strategy) เป็นกลยุทธ์ส่วนที่นักการตลาดต้องกำหนดขึ้นก่อน เป็นหลักหรือแก่นในการคิดพัฒนากลยุทธ์อี่นๆตามมาให้สอดคล้อง core strategy ประกอบด้วย 3 ส่วนที่ต้องตัดสินใจ คือ
               1) ตลาดมีความต้องการในสินค้า / บริการนั้น ๆ ที่แตกต่าง อันแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ อย่างไรบ้าง? (market segmentation)
               2) กลุ่มลูกค้าหรือส่วนตลาดใดที่เหมาะสมที่สุด สอดคล้องกับลักษณะสินค้า / บริการ และทรัพยากรขององค์กรที่สุดที่จะสร้างความพอใจให้ได้ ซึ่งสมควรเลือกเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ? (target market)
               3) สินค้า / บริการของเราจะวางตำแหน่งในใจของลูกค้า ให้พอใจและโดดเด่นในจุดใด จึงได้เปรียบในการแข่งขันสูงสุด? (positioning)
         2. กลยุทธ์ส่วนประสมการตลาด (marketing mix strategy) คือการวางกลยุทธ์ในองค์ประกอบทั้งหมดทางการตลาด ให้สอดคล้องสัมพันธ์และเสริมกลยุทธ์แก่นหรือ core strategy ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน หรือ 4P’s คือ
               • Product : ตัวผลิตภัณฑ์ / บริการ
               • Price : ราคา หรือ สิ่งที่ลูกค้าต้องสูญเสียเพื่อแลกกับผลิตภัณฑ์ / บริการ
               • Place : ช่องทางในการจัดจำหน่าย และการขายสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
               • Promotion : การส่งเสริมการตลาด การสื่อสารข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้การตัดสินใจแลกเปลี่ยนของลูกค้าเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมาย

5 สุดยอดวิชา


5 สุดยอดวิชา "ขันที"

ผมเพิ่งเริ่มอ่านสามก๊กฉบับคนขายชาติ แล้วไปสะดุด "ห้าสุดยอดวิชาขันที" เข้า มันเป็นวิชาที่ผมอึ้งกับวิชาเหล่านี้ ช่วงนี้สงสัยตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมเจอคนที่มี 5 สุดยอดวิชานี้เยอะมากๆ ก็เลยอยากเอามาแชร์เพื่อเอามามองคนในชีวิตประจำวันว่าเขามีวิชาเหล่านี้หรือเปล่า... ผมว่ามันก็มีทั้งดี และไม่ดี แต่ส่วนใหญ่ จะพบแบบครบๆ กับคนที่ทำงานไม่เป็น คนที่ทำงานเอาแต่พูดแต่ไม่ทำ หรือ คนที่ต้องเล่นการเมืองในบริษัทฯ ยังไงแล้ว มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ...

1. วิชาว่าด้วย... การพินอบพิเทาและสร้างความพอใจสูงสุด

วิชานี้ผมว่ายังพอทำเนา ยังยอมรับได้ เพราะสามารถเอาไปใช้กับลูกค้าได้ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด การแบ่งรับแบ่งสู้ หรือ การสนองความต้องการของลูกค้านั้น จะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจต่อการปฏิบัติของเรา รวมทั้ง เชื่อมั่น และ ไว้ใจเรา ให้เราได้ขาย หรือ บริการ ตามความถนัด

แต่อีกแง่มุมหนึ่ง วิชานี้ ก็คือ การประจบสอพลอ สนองความพอใจของเจ้านาย แต่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าทำเช่นนี้ ผมว่า มันก็ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ ใช้ความไว้วางใจในทางที่ผิด อีกอย่าง หากเจ้านายเป็นคนที่เชื่อใจ หรือ ไว้ใจคนที่มีวิชานี้ด้วยแล้ว ผมว่า มันจะวุ่นกันไปใหญ่ เหมือนกับพระเจ้าเลนเต้ ที่เชื่อใจ 10 ขันที


2. วิชาว่าด้วย... การสร้างความแตกแยกเพื่อแสวงประโยชน์หรือเอาตัวรอด

วิชานี้ก็คือวิชาตาอยู่ มาคว้าพุงเอาไปกิน ถ้ายุ่งเกี่ยวกับการตลาด ก็เหมือนกับ เจ้าใหญ่ 2 เจ้ากำลังขับเคี่ยวกันเรื่องการขายสินค้า แต่เราสามารถแบ่งส่วนของตลาดบางส่วนจากสินค้าที่แตกต่าง เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มแล้วค่อยๆสร้างให้กลุ่มเป้าหมายใหญ่ขึ้น โดยที่เจ้าใหญ่ๆ ไม่ทันระวังตัว อย่าง ยาสีฟันสีดำที่เป็นสมุนไพร ที่เป็นดอกไม้2ดอก ใช้วิชานี้มาแล้วและประสบความสำเร็จ จนเจ้าใหญ่ๆ ต้องกลับมามองว่า เป็นคู่แข่งคนสำคัญไป...

แต่อีกมุมของวิชานี้ ก็คือการยุยงให้เกิดการแตกความสามัคคี เพื่อผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ หรือ ทำให้คู่แข่ง หรือ คนที่เราไม่ชอบหน้า เกิดตกต่ำขึ้น อย่างเช่น คนที่ทำงานได้ดี เจ้านายรัก แต่มีคนที่ไม่อยากให้คนที่ทำงานได้ดี มีผลงาน ก็เข้าไปสร้างความครางแครงใจให้กับเจ้านายบ่อยๆ เมื่อได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความสงสัยว่า คนๆนี้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้หรือไม่ แล้วก็จะเกิดความระแวงขึ้นทั้งๆที่ อาจจะไม่เป็นไปตามที่ได้ยินมาก็ตาม


3. วิชาว่าด้วย... การฆ่าคนโดยใช้วาจาเป็นอาวุธสังหาร

อันนี้ตรงตัว คนที่มีการพูดที่สามารถชักจูง หรือ โน้มน้าวคนได้ดี ก็เป็นคนที่มีวิชานี้ คนบางคนพูดไม่เก่ง คนบางคนพูดเก่ง ฟังเพราะ รื่นหู และ น่าเชื่อถือ ซึ่ง ความสามารถเฉพาะตนเช่นนี้ หากใช้ในทางที่ดี ในการแนะนำ หรือ ชี้แจง หรือ อธิบายในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จำทำให้ผู้ฟังมีความคิดได้ตรงแนวทางมากขึ้น หรือ มีมุมมองของตนเองที่ถูกต้องมากขึ้น ข้อมูลที่ให้ถ้าเป็นข้อมูลที่ดี และ ถูกต้องก็จะเป็นพื้นฐานให้ผู้ฟังได้รับแต่สิ่งที่ดี....

ทำนองกลับกัน หากใช้ความสามารถทางด้านการพูด การเจรจา หรือ การสื่อสาร ไปในทางที่ไม่ดี ยุงยงคนอื่นให้แตกแยก หรือ ให้ร้ายป้ายสี มันก็เป็นการใช้วิชาที่มีในทางที่ไม่ดีเช่นกัน...


4. วิชาว่าด้วย... การเรียกรับสินบน

ถ้าเปลี่ยนการเรียกสินบน เป็นสิ่งที่ควรจะได้รับ อย่างเช่น เงินค้างชำระที่ลูกหนี้ ต้องจ่ายคืนเรามา คนที่มีหน้าที่ทวงหนี้ จะมีวิชานี้ติดตัวเช่นกัน แต่ใช้ในทางที่ถูกต้อง แต่นั่นแหละ คนหลายๆคนนะ มีวิชานี้แบบตรงๆ เลย พูดอ้อมๆ แต่เป็นการเรียกร้อง.... อย่างคนขับรถบนถนนหนทาง คงต้องเคยได้เห็นวิชานี้ ข้างถนนบ่อยๆ ทำความเคารพ และขอบัตร ขี้แจงเรื่องต่างๆให้ฟัง ประกอบกับชวนคุยอยู่นานสองนาน และ จะบอกว่า ถ้าคุณไปชำระที่.xxx.. จะต้องเสีย .$$$$... ซึ่งมากกว่า เสียให้เขา.$.. อันนี้แค่ยกตัวอย่างครับ...


5. วิชาว่าด้วย... การซื้อน้ำใจคน

อันนี้ การซื้อน้ำใจคนนั้น ก็ต้องทำในคนดีด้วย หัวหน้าไม่ซื้อใจลูกน้อง ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ เมื่อได้น้ำใจคนแล้ว การทำอะไร การไหว้วาน ก็จะง่ายเข้า หรือแม้นแต่การขอความช่วยเหลือต่างๆ เป็นมุมมองของการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง...

แต่ในแง่ของการติดสินบน เพื่อซื้อพวก หรือ ซื้อเสียง นั้น เป็นวิชาทางด้านที่ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง แต่ก็ได้ข่าวออกบ่อย โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งฯ


ครับ ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด หากเอามาใช้ประโยชน์ให้ถูกทาง ก็จะส่งผลในทางที่ดี ที่ถูกที่ควร แต่ในทางกลับกัน วิชาจะดีเพียงใด แต่เอามาใช้ผิดทาง ก็จะสามารถ เลวร้ายได้สุดกู่เช่นกัน... ทั้งนี้ คนมีความรู้ในเรื่องใดๆ ก็อยากจะให้ใช้ให้ถูกทาง อย่าหวังแต่เพียง เงิน หรือ ชื่อเสียง เลยครับ ชีวิตยังมีอะไรมากมาย มากกว่า 2 สิ่งนี้นะครับ....

โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

สร้างระบบทีมขาย


การขายมีหลากหลายแบบ ซึ่งก็ขอแค่ขายสินค้าได้ก็พอ ดังนั้น...

ถ้าจะจัดหา Dealer ช่วยๆกันไป ธุรกิจไม่ต้องทำคนเดียวก็ได้ครับ ทำกันบริษัทฯ แบ่งๆกำไรกันไป โตไปด้วยกันครับ...

หรืออาจให้ TV Direct หรืออะไรทำนองนี้ ทำเป็น Deale ให้ ตรงถึงบ้านของแต่ละคนเลยครับ Condition ก็ไปตกลงกันเองครับ... แต่อย่าปิดช่องการขายของตัวเองหละครับ อาจจะทำเป็น Brand Name อื่นเป็นการเพิ่มช่องทางการขายจากการผลิดครับ..

จัดเปิดบุ๊ตขาย โดยจ้างพนักงนา PC มาขาย จัดอบรมสินค้า เลือกทำเลที่ตั้งที่ดีๆ ก็ขายได้เหมือนกัน..

แต่ถ้าจะทำระบบการขายเอง ร่วมด้วย ก็ต้องมาดูเรื่องเหล่านี้ครับ... เพิ่มช่องทางการขายจาก Dealer ก็ดีครับ.. ขอคิดเล่นๆนะครับ...

จัดระบบคอมมิชชั่น

เรื่องระบบนี้คงเห็นกันโดยทั่วไปแล้ว การจัดการแบบขั้นบันไดดูดึงดูดการขายได้มากกว่า จากตัวเลข น่าจะกำไรอยู่ที่ ประมาณ 10-12% ก็ตกราวๆ 3000 บาท ถ้าตัองตั้งยอดคอมก็อาจจะมองลักษณะนี้ครับ

ยอดต่อเดือน (ตัว) ค่าคอมตัวละ (บาท) ได้มากที่สุด
. .0-15 . . . . . . . . . . . . 300 . . . . . . . . 4,500
.16-20 . . . . . . . . . . . . 350 . . . . . . . . 7,000
.21-25 . . . . . . . . . . . . 400 . . . . . . . 10,000
.26-30 . . . . . . . . . . . . 450 . . . . . . . 13,500
.31-35 . . . . . . . . . . . . 500 . . . . . . . 17,500
.36-40 . . . . . . . . . . . . 550 . . . . . . . 22,000
.41+ . . . . . . . . . . . . . .600 . . . . . . . xx,xxx

แล้วให้เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ถ้าพนักงานขายสามารถทำได้เหมือนคุณ เฉลี่ยอยู่ที่ 25 เครื่อง ก็จะได้เงินประมาณ 15,000 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตั้งของคุณครับ แต่ผมว่าน่าจะให้มากกว่านี้สักหน่อยก็ดีครับ แค่ลองคิดดูเล่นๆเท่านั้นเอง..

แบ่งสาย แบ่งโซน

จัดสายการวางจำหน่าย หาหัวหน้าทีม และ อาจให้ค่าคอมของหัวหน้าทีมเป็น อีก 2%,4%,6%,8%,10% ของยอดคอมมิชชั่นของทีมงาน ซึ่งก็จะเป็นแรงผลักให้เกิดการขายได้มากขึ้นครับ แบ่งสายอย่าให้ทับกัน และ ต้องชัดเจน เช่น กรุงเทพฯ, ภาคกลาง, ภาคใต้, อีสาน, และ ระบุจังหวัดด้วยจะดีมากเลยครับ..

การจัดแบ่งสายมี่มี Dealer ร่วมอยู่ด้วย ตามมารยาทก็ไม่ควรจัดทับ หรือ ไปแก่งแย่งกันเองครับ แต่ถ้า Dealer เป็นจังหัวดๆไป ก็ดีนะครับ...

จัดหาบุคคลากร

หาแค่หัวหน้าสายงานแล้วให้หัวหน้าสายเป็นคนหาลูกทีม กำหนดจำนวนคนของแต่ละทีมให้เหมาะสม เท่านั้นก็พอครับ แต่ถ้าต้องโฆษณาก็ให้โฆษณาทีเดียวร่วมกัน ประหยัดหน่อย (ยังมีความงกอยู่ในหัวผม..อิอิ)

อบรมพนักงาน

อาจจะอบรมการใช้ทั้งหมด จัดอบรมวิธีการขาย หรือให้หัวหน้าสายงาน เป็นคนรับผิดชอบก็ได้ครับ หรืออาจจะให้หัวหน้างาน จัดอบรมกับพนักงานทุกๆส่วน โดยสลับกันขึ้นมาเป็นวิทยากรก็ได้ มีหลายรูปแบบครับ.. แต่ต้องอบรมให้อยู่ในทิศทางเดิยวกัน โดยเฉพาะตัวสินค้า ให้เข้าใจให้ตรงกันครับ..
เอกสารการอบรมต่างๆ ก็ต้องเตรียมให้พร้อม

วัสดุช่วยในการขาย

อย่าลืมจัดทำโบร์วขั่วร์ หรือ วัสดุต่างๆที่ช่วยการขาย โดยเฉพาะ ถ้าต้องเบิกสินค้าเพื่อเป็นตัวอย่างก็ต้องทำระบบควบคุมโดยเฉพาะ มีเยอะที่พนักงานขาย เอาของตัวอย่างมาขายนอกระบบแบบ ถูกๆ เอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง

อุปกรณ์ช่วยขายเป็นสิ่งจำเป็น เหมือนกับคุณให้อาวุธกับทหารที่ไปรบ อาวุธดีเช่นปีน รถถัง เครื่องบิน ระเบิด โอกาสที่จะชนะช้าศึกก็มีมาก อาวุธไม่ดีเช่นเอาพรั่ว เอาจอบไปรบ.. คงสนุกดีนะครับ...

ควบคุมยอดขาย

เมื่อจัดตั้งทีม ต้องตั้งเป้าในการทำ อาจจะต้องตั้งเป้าใหญ่ทุกๆ 3 เดือน ตั้งเป้าทีมหรือสายงาน ตั้งเป้าแต่ละคน ทุกๆเดือน และ ต้องตรวจสอบ มีคนเก็บข้อมูลกลาง หรือ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วย และ คุณต้องเข้ามาดูยอดทุกครั้งเพราะนี่คือหัวใจที่คุณจ่ายให้ไป... (งานทั้งหมดของคุณก็แค่ทำส่วนนี้สำคัญที่สุด เวลาที่เหลือไปทำทางด้านอื่นๆเล็กน้อย)

ให้รางวัลพนักงาน หรือ จัดโปรโมชั่นให้พนักงานเป็นระยะ
ควรจะจัดตั้งรางวัลพนักงานขายดีเด่นทุกเดือน หากคนที่ทำได้ติดต่อกัน ก็จัดประชุม ให้พนักงานขายคนนั้นมาคุยวิธีการให้ฟังว่า สามารถทำได้อย่างไร แล้วนำวิธีการของพนักงานขายนั้น มาปรับเพื่อให้องค์กรสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น บางครั้งทำโปรโมชั่นสินค้า ก็อย่าลืมทำโปรโมช้นให้พนักงานด้วย เพราะจะเป็นการส่งเสริมการขายส่วนหนึ่งทีเดียว... (ให้เงินคนของเราดีกว่าให้คนอื่นๆ)

อย่าลืมเรื่องระบบจัดเก็บเงิน

ขายได้ก็อย่าลืมเรื่องระบบตรวจสอบเงินด้วยว่ายอดเงินที่ได้กับยอดขายสัมพันธ์กันอย่างไร บางที่ต้องได้เงินก่อนถึงจะจ่ายค่าคอมมิชชั่น ซึ่งทำให้พนักงานขายติดตามหนี้จากลูกค้าของบริษัทฯอีกทางหนึ่ง เพราะพนักงานขายก็ต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายเหมือนกัน...

โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

ส่วนตัว บริหาร การตลาด รักษาความเป็นเพื่อน


ส่วนตัว/บริหาร/การตลาด : "รักษาความเป็นเพื่อน"

จากความสัมพันธ์ และ การหาเพื่อนใหม่ สิ่งหนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญมาก ก็คือการรักษาความเป็นเพื่อน ซึ่งผมแยกวิธีการต่างๆไว้ดังนี้...
1. สม่ำเสมอ
2. จำให้ได้
3. ปราถนาดี
4. มีสมาคม ร่วมสังสรร
5. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน
ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้สัมพันธ์กับ เรื่องส่วนตัว การบริหาร และ การตลาดได้เช่นกันดังนี้



ส่ ว น ตั ว

1. สม่ำเสมอ ที่จะติดต่อสื่อสารด้วย เพราะ การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งที่ทำให้เราและเพื่อนๆ มีความรู้สึกยังผูกพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด ลองคิดกลับไปดูครับว่า เพื่อนเก่าสมัยประถม ยังเหลืออีกกี่คน เพื่อนสมัยมัธยม ยังมีอีกกี่คน เพื่อนสมัยมหาลัย มีมากแค่ไหน และเพื่อนที่ทำงานหละมีมากน้อยเพียงใด แล้วเพื่อนที่ยังอยู่นะคุณก็ยังติดต่ออยู่ด้วยใช่หรือไม่ มีเพื่อนที่คุณไม่ได้ติดต่อด้วยในความคิดอีกกี่คน โทรไปคุยกับเพื่อนๆได้แล้วครับ เพื่อนสร้างสัมพันธ์ให้ยืนยาวต่อไป

2. จำให้ได้ ถึงบุคคลิก ถึงชื่อ ของเพื่อนๆ เพราะการจำจะเป็นตัวกลางที่จะสื่อให้เห็นถึงความสนใจของคุณที่มีต่อเพื่อนๆ บางคนถึงกับจำวันเกิดได้ บางคนจำแม้นกระทั่งวันแต่งงาน ที่จำได้อาจจะมีสาเหตุ โทรไปแสดงความยินดี หรือ ทักทายเพื่อนๆในวันพิเศษของเขาบ้างนะครับ อย่างน้อยก็หมายถึงคุณให้ ความสำคัญกับเพื่อนมากน้อยเพียงใด 

การจดจำสิ่งที่เขาชอบ หรือ ไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้เราสามารถเข้ากับเพื่อนได้ดีเช่นกัน หากคุณรู้ว่าเขาไม่ชอบเรื่องใด ก็สามารถหลีกเลี่ยงที่จะทำเรื่องเหล่านั้นได้จะได้ไม่ผิดใจกันครับ..

อยากให้ทุกคนจำแต่สิ่งดีๆของเพื่อน เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน ลืม หรือ แกล้งลืม สิ่งที่ไม่ดีไปบ้างนะครับ จะได้ไม่เป็นทุกข์

3. ปราถนาดี กับเพื่อนอยู่เสมอ ความปราถนาดีข้อนี้เป็นการกระทำที่เรามีต่อเพื่อนๆ แนะนำ แบ่งปัน ช่วยเหลือ เกื้อกูล ห่วงใย จริงใจ และ ซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่สมควรทำกับเพื่อนอย่างยิ่ง แนะนำในสิ่งดีๆ หรือ ชี้แนะให้เห็นถึงโทษที่จะเกิดขึ้น แบ่งปันในสิ่งที่เรามี ช่วยเหลือในยามตกทุกข์ยาก ยินดีในความสำเร็จของเพื่อน ห่วงใยในเรื่องต่างๆ ติดต่อกันอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง และที่สำคัญ ต้องซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน หากคุณทำสิ่งเหล่านี้คิดว่า คงมีเพื่อนมากมาย คุณทำลักษณะนี้บ้างหรือเปล่า.. แต่ถ้าเพื่อนคุณทำลักษณะอย่างนี้กับคุณ ก็ขอให้มั่นใจได้เลยว่าเขาเป็นเพื่อนแท้ของคุณ อย่าปล่อยให้เขาขาดความสัมพันธ์กับคุณไปก่อนหละ.. แต่ก็ต้องระวังด้วยเพราะบางคนเสแสร้งแกล้งทำเป็นดี แต่ในส่วนลึกอาจกำลังหาผลประโยชน์จากคุณอยู่นะครับ..

4. มีสมาคม ร่วมสังสรร การเข้าสมาคม มีการสังสรรกัน ทำให้เกิดกิจกรรมร่วม ซึ่งทำให้มีการสื่อสารระหว่างกัน และ มีประสบการณ์ร่วมกัน จะเข้าใจ และรับรู้นิสัยกันมากขึ้น บางคนจะรักกันมากขึ้น บางคนก็เกรียจกันไปเลยก็มี มันเป็นตัวคัดเพื่อนว่าดีหรือไม่อีกทางครับ

5. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน คนเราทุกคนมีเอกลักษณ์ประจำตน การที่เราสามารถแสดงให้เพื่อนๆได้จดจำเอกลักษณ์ของเราได้นั้น จะทำให้เพื่อนๆจำสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราทำให้ ยิ่งคุณทำคุณให้กับเพื่อนๆแล้ว เพื่อนๆจะจดจำคุณได้ ตรงข้ามหากคุณทำให้เข้าเจ็บช้ำน้ำใจแล้ว เพื่อนก็จะจดจำคุณได้อย่างไม่ลืมเช่นกัน..


บ ริ ห า ร

1. สม่ำเสมอ ในการติดตามงาน จัดสรรงาน บริหารงานบุคคล ทำให้ทราบว่าลูกน้องกำลังทำสิ่งใดอยู่ แต่ละคนทำงานเต็มความสามารถแล้วหรือยัง มีใครไม่ถูกกับใครบ้างหรือเปล่า และ งานบริหารต่างๆนั้นขาดไม่ได้เลย หากละเลยเรื่องการติดตาม จะพบว่า จะมีการก่อตัวของปัญหาเกิดขึ้น จนถึงจุดหนึ่งมันจะระเบิดออกมา อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่หากคุณติดตามอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คุณเห็นจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุง และ แก้ปัญหาได้ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โต

การคุยและการประชุมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ความเข้าใจระหว่างหัวหน้างานและ ลูกน้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างน้อย ก็ต้องรายงานผลการทำงานในช่วงเวลาหนึ่งให้เรารับทราบ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนบ้าง จะได้ช่วยเหลือหรือแนะนำการทำงานต่างๆให้กับลูกน้องด้วยเช่นกัน

2. จำให้ได้ ในสิ่งที่ลูกน้องทำดี และผลงานที่ทำได้ดี และ ให้ผลตอบแทนคุณความดีด้วยเช่นกัน แต่คงไม่ต้องจำสิ่งที่ไม่ดีหรอกนะครับ หากเจอสิ่งไม่ดีก็ตักเตือนไปเลย แล้วลืมๆมันไปบ้าง ยกเว้นเค้าทำซ้ำในสิ่งไม่ดีอีก ก็ค่อยรื้อฟื้นความจำก็ยังไม่สายครับ แต่การปากบอกว่าลืมแล้ว แต่ประชุมทุกครั้งก็เอาเรื่องไม่ดีมาคุยทุกครั้งอย่างนี้ก็ไม่ไหวนะครับ

จำได้ถึงความชอบหรือไม่ชอบ ของพนักงานแต่ละคน เราจะได้จัดแบ่งงานออกไปให้กับคนที่ชอบลักษณะใดๆได้ถูกต้อง จัดคนให้เข้ากับงาน จัดงานให้เข้ากับคน ครับ รวมถึงการปฏิบัติของเราต่อลูกน้องด้วย ลูกน้องจะได้ไม่ลำบากใจว่า เจ้านายทำในสิ่งที่ไม่ชอบเลย เป็นต้นครับ..

3. ปราถนาดี ให้ลูกน้องได้ดี ได้โปรโมท แนะนำวิธีการทำงานให้ได้ผลดี สอนงานให้สามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด ช่วยเหลือในสิ่งซึ่งสามารถช่วยได้ ห่วงใยในผลงานการทำงานของลูกน้อง ให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ซื่อสัตย์กับพนักงาน ไม่ทำให้ลูกน้องเป็นแกะ หรือ แพะ แล้วโยนความผิดให้ แต่ต้องหมั่นหาข้อดีของลูกน้องครับ เข้าใจเขา เข้าใจเราครับ

4. มีสมาคม ร่วมสังสรร เป็นส่วนหนึ่งของลูกน้อง เข้าร่วมสมาคมกันบ้าง หรือ แม้นกระทั่งแผนกอื่นๆก็ควรเข้าร่วมสังสรรและสมาคมบ่อยเพื่อเกิดความเป็นพวกเดียวกัน การแบ่งแยกตัวเองออกมาว่าเป็นเจ้านาย จะเป็นจุดแรกเริ่มของ ยิ่งสูง ยิ่งหนาว แต่เมื่อคุณได้รู้จักลูกน้อง และ เพื่อนร่วมงานแล้ว คุณจะพบว่า คุณสามารถสั่งงานหรือ ทำงานได้คล่องขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว

5. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน บริหารแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ทำให้ลูกน้องเข้าใจในการบริหารของเรา เช่น หัวหน้างานที่ชอบพูดนิ่มๆ แต่เสียดแทง พอพบว่าพูดนิ่มๆด้วยลูกน้องก็ต้องคิดก่อนแล้วครับว่าทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า หรือ เจ้านายที่เวลาจะต่อว่าต้องปิดประตูก่อนทุกครั้ง คนเข้าไปแล้วให้ปืดประตูก็เดาได้เลยครับว่า กำลังถูกเจ้านายดุอยู่.. ทำให้แต่ละคนไม่อยากที่จะทำผิดเป็นต้น ซึ่งก็จะส่งผลดีกับระบบงานโดยรวมเช่นกันครับ..


ก า ร ต ล า ด

1. สม่ำเสมอ ในการออกเยี่ยมลูกค้า และ การรับข้อมูลเพื่อการปรับปรุงสินค้าและการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการออกขายสินค้า เสนอสินค้าใหม่ให้กับลูกค้าก็ตาม การที่ให้ลูกค้าเห็นหน้าเราเสมอๆ จะมีส่วนทำให้การตัดสินใจของลูกค้ามีแนวโน้มโอนเอียงมาทางเรา การรับข้อมูลเพื่อมาปรับปรุงสินค้าและบริการ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการพัฒนสินค้าที่เขาใช้บริการอยู่ ทำให้เขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน หรือ การที่ผู้บริหารได้ออกเยี่ยมลูกค้าเป็นประจำ ทำให้ความสัมพันธ์ระดับบนดี และ ลูกน้องก็จะไม่กล้าที่จะทำอะไรไม่ดีกับลูกค้าแต่ละรายเพราะกลัวถูกรายงานกลับมายังเจ้านาย.. 

การโฆษณาให้ลูกค้ารับรู้ หรือ ออกข่าวสารต่างๆ เป็นประจำก็เช่นกันเป็นการสร้างจิตสำนึกในการรับรู้ว่าหากต้องการใช้สินค้าและบริการของเรา สามารถเรียกใช้เราได้

2. จำให้ได้ ในสิ่งที่เขาต้องการ ในสิ่งที่เขาใช้บริการหรือสินค้าของเรา นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถระบุได้เลยว่าลูกค้าต้องการอะไร หรือใช้สินค้าอะไรของเรา ปัจจุบันการที่เกิดระบบ CRM นั้นก็เพื่อช่วยในจุดนี้ เพื่อลดความผิดพลาดของความจำลง และ ยังสามารถวิเคราะห์ให้เราได้มากกว่าด้วย..

3. ปราถนาดี กับลูกค้า แนะนำสินค้าที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้จริง แนะนำวิธีการใช้อย่างละเอียด แบ่งปันความรู้เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้พัฒนาควบคู่กับเรา ช่วยเหลือเรื่องต่างๆบ้างบางครั้ง จริงใจและซื่อสัตย์ ในการติดต่อธุรกิจร่วมกัน โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เป็นสิ่งที่เราควรมีไว้ให้มาก เพราะชื่อเสียงของเราแขวนไว้บนคำๆนี้จริงๆครับ.. เพราะลูกค้าจะซื้อ หรือ บอกต่อให้เพื่อนๆซื้อหรือใช้บริการของเราหรือไม่นั้น นอกจากสินค้าและบริการที่ดีสมราคาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ขึ้นกับ ความจริงใจ และ ซื่อสัตย์ของบริษัทเราเป็นหลัก แต่ถ้าเราปราถนาดี แล้วลูกค้าเอาเปรียบก็ไม่ไหวเหมือนกันนะครับ ระวังด้วย...

4. มีสมาคม ร่วมสังสรร การเลี้ยงรับลองลูกค้าบ้าง หรือ นัดทานข้าวเพื่อนสร้างสัมพันธ์กันให้มาก ทำให้ลูกค้าจะรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกับลูกค้าเหมือนกัน เพราะ สินค้าและ การบริการส่วนใหญ่ ที่จะมีการซื้อขายกันต่อนั้น จะเกิดจากสัมพันธภาพที่มีต่อกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ลองพิจารณาเองละกันนะครับ ระหว่าง ผู้ขายที่เลี้ยงขอบคุณเราในฐานะผู้สั่งซื้อ หรือ การเชิญเราไปตีกอล์ฟ ในงานของเขา หรืออื่นๆ หากเขาเข้ามาขายสินค้าที่คุณต้องการอีก แข่งกับผู้ขายรายอื่น ที่มีราคาและคุณภาพใกล้เคียงกัน คุณจะเลือกใคร...

5. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ชื่อสินค้า ชื่อเสียงของบริษัทฯ ก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ชื่อสินค้าดีๆ จะทำให้ลูกค้ามั่นใจในสินค้า ชื่อเสียงบริษัทฯ ที่ดีก็ทำให้ลูกค้าเชื่อใจในบริการ การสร้างเอกลักษณ์เหล่านี้บริษัทฯใหญ่จึงต้องการมาก เพราะ หากชื่อสืนค้าดี ก็จะขายสินค้าได้มาก เพราะชื่อสินค้าเป็นใบรับประกันทางจิตใจเรียบร้อยแล้ว...


โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

ทำไม่คนเก่ง???

ทำไม่คนเก่งถึงไม่ค่อยมีความสุข... 

ถ้าถามว่าใครอยากเป็นคนเก่งบ้าง???
ก็คงมีคนยกมือกันสลอนไปหมด แสดงว่าความเก่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ แต่ในความเก่งนั้น ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่าง ที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายๆ คนไม่ชอบ เช่น 


เก่งแล้วถูกอิจฉา 

เคยมีหมอรุ่นน้องคนหนึ่ง มาปรึกษาและเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่เขากลับจากนอกใหม่ๆ เขาเป็นคนเก่งมาก ฉลาดมาก ท่าทางดี บุคลิกดี การพูดจาเฉียบแหลม การเสนอแนวความคิดดีมาก เขากลับมาก็เข้ารับราชการ จากผลงานการทำงาน ที่มาจากสมองและความสามารถของเขา ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เจ้านายก็ชอบ ลูกน้องก็ชอบ แต่เพื่อนๆ หมอด้วยกัน ไม่ค่อยชอบเขา เขาถูกโจมตีด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีคนคอยจับผิด ขยายความผิดเล็กน้อย ให้กลายเป็นความผิดใหญ่โต ในวงการวิจารณ์และนินทา จะต้องมีชื่อของเขา ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งมาก หมอรุ่นน้องที่เคยเดินตามหลังเขามา ก็พลอยอิจฉาไปด้วย หมอรุ่นพี่บางคนที่ก้าวร้าวมากหน่อย ถึงกับเคยจับแขนถามว่า เมื่อไรจะลาออกไปเสียที 

เขาเคยนึกโกรธและคิดจะลาออก แต่ก็เตือนตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ควรจะลาออก ในตอนโกรธ จนสุดท้ายเขาเกิดความรู้สึกว่า เขาน่าจะได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอะไรๆ ได้อีกมากมาย ถ้าหากลาออกจากราชการ เขาจะลาออกจากราชการด้วยความพร้อม และไม่ได้โกรธบุคคลเหล่านั้น เป็นแค่รู้สึกตัวว่าถูกอิจฉามาก ขณะนี้เขาก็ประสบความสำเร็จ ในอาชีพส่วนตัวของเขามากมาย 


เก่งแล้วเหงา 

รายนี้เป็นนักบริหารระดับสูง ของบริษัทที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง เขาจบการศึกษาจากต่างประเทศ บุคลิกดี พูดจาคล่องแคล่ว ฉะฉาน ความคิดริเริ่มดีมาก และประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นเยี่ยม เขาเล่าให้ผมฟังว่า เจ้านายชอบเข ามาก เพราะเขามีส่วนช่วยพัฒนาบริษัท ให้เจริญก้าวหน้าและทำกำไรให้ มากกว่าเดิมมากมาย เขาได้รับการสนับสนุนจากนาย ทั้งตำแหน่งและเงินเดือน 

ลูกน้องโดยตรง ที่อยู่ระดับล่างๆ จะเกรงใจเขา และพร้อมจะปฏิบัติ ตามคำสั่งของเขาทุกประการ แต่บุคคลที่อยู่ระดับบริหาร ในฐานะที่ใกล้เคียงกับเขา หรือเป็นรองเขาเล็กน้อย จะไม่ค่อยชอบเขา มักจะไม่ให้ความร่วมมือ หรือมักรวมหัวกันประท้วงเงียบบ่อยๆ ทำให้มีอุปสรรคมากขึ้นในการทำงาน 

เขาเล่าให้ฟังว่า "งานบางอย่าง ผมทำให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน แต่ถ้าให้พวกเขาทำกัน เขาจะเสียเวลาในการประชุมถกเถียง ด้วยวิธีที่เยิ่นเย้อ หรือมีการเสนอแผนงานที่ไม่รัดกุม ทำให้ผมรำคาญ ครั้นพอผมเสนอแผนงานออกไป มันเข้าท่า กะทัดรัดและผลลัพธ์ก็ได้ดี จึงทำให้พวกเขารู้สึกเสียหน้า และไม่ชอบผมเลย" 

เขาก็รู้สึกเหงา ทั้งที่ทำงานได้ผลดี แต่รู้สึกว่าไม่มีเพื่อน 

"บางครั้งผมรู้สึกว้าเหว่ และชักไม่แน่ใจว่า ตัวเองจะทำงานไปเพื่ออะไร ทำไมผมจึงไม่มีเพื่อน ทั้งๆ ที่คิดว่าตัวเองอยากได้เพื่อน และพยายามทำดีกับเขา แต่เขาก็ไม่ยอมรับให้ผมเป็นเพื่อน ผมรู้ดีว่าความสำเร็จในขั้นสูงสุดต่อไปนั้น ต้องอาศัยแรงผลักดันจากเพื่อนร่วมงาน ที่พร้อมจะร่วมมือด้วย ผมจึงกังวลกับความรู้สึกว้าเหว่ ในที่ทำงานของผม" เขากล่าวในตอนท้าย 


เก่งแล้วระวังตัว 

คนเก่งรายนี้จบปริญญาเอก มาเล่าให้ฟังว่า ด้วยความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นคนเก่ง ทำงานเก่ง ประสบความสำเร็จมาก ผู้คนรอบข้างก็คอยดูว่า เขาจะทำอะไรต่อไป และอีกหลายๆ คน ก็พร้อมจะเยาะเย้ยทันที ที่เขาทำอะไรพลาด 

เขากล่าวว่า "ผมเลยต้องคอยระวังตัวในการทำงานอยู่เสมอๆ เพราะกลัวว่าถ้าพลาดลงมา จะมีคนพร้อมจะกระทืบซ้ำทันที" 

แน่นอน มนุษย์อิจฉาคนเก่ง 
แน่นอนที่สุด ที่คำกล่าวนี้เป็นจริง 
เพราะมนุษย์อยากมีความเก่ง 
แต่มนุษย์ก็ไม่ค่อยมีความเก่งกันหรอก 

ความเก่งจึงเป็น 'ของหายาก' ที่ใครๆ ก็อยากได้มีไว้ในครอบครอง เมื่อตัวเราไม่สามารถมีไว้ได้ ก็เลยอิจฉาคนอื่นที่เขามีอยู่ และไม่อยากให้เขามีไว้ ในครอบครองด้วย 

โดยเฉพาะคนเก่งที่เป็นผู้ชาย เขาจะถูกอิจฉาโดยผู้ชายด้วยกันมากมาย แม้ว่าต่อหน้าเขาจะทำท่าทีชื่นชมกันก็ตาม เพราะผู้ชายเป็นเพศที่อยากได้อำนาจ และอยากได้ความตื่นเต้นมากๆ ความเก่งจะทำให้เขาได้อำนาจ และสร้างความตื่นเต้นของชีวิต ในรูปแบบต่างๆ ได้ ผู้ชายจึงพร้อมจะเลียนแบบคนเก่งได้ดี และก็พร้อมจะโค่นคนเก่งลงได้ดีเช่นกัน เพราะความอิจฉา 

โดยเฉพาะในกลุ่มคน ที่มีศักยภาพใกล้เคียง จะอิจฉากันมาก ถ้าหากมีสถานภาพหรือศักยภาพ แตกต่างกันมากๆ จะไม่อิจฉากันมากหรอก เช่น ขอทาน หรือภารโรง มักไม่อิจฉานายกรัฐมนตรีหรอก! 

ผู้หญิงจะชื่นชมคนเก่ง ได้ดีกว่าผู้ชาย

ใช่ ถ้าคนเก่งนั้นเป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะเป็นพวกที่ชื่นชมคนเก่ง ที่เป็นผู้ชาย ได้อย่างมั่นคง และอย่างออกหน้าออกตา และในความหมายของคนเก่งนั้น เราก็มักนึกถึงผู้ชายกัน มากกว่าผู้หญิง 

ผู้ชายเก่งทั้ง 3 รายที่กล่าวมาแล้วนั้น พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาไม่มีปัญหากับผู้หญิงเลย และผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ชื่นชมเขา อย่างออกหน้าออกตาด้วย เป็นไปได้ว่า ในสภาพจิตใจของผู้หญิงนั้น พวกเธอต้องการความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิต ไม่ชอบเสี่ยงโลดโผนอะไรมากนัก ฉะนั้นการรู้จักคนเก่ง จึงทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย และอยากอยู่ใกล้ อยากเก็บเอาไว้นานๆ มากกว่าอยากจะแข่งขัน หรือทำลายเสีย 

ถ้าเป็นผู้หญิงเก่งเล่า ใคร จะอิจฉา 

ดูออกจะเสียเปรียบสักหน่อย ที่ถ้าผู้หญิงนั้นเก่งเท่าๆ 
กับผู้ชาย ผู้หญิงด้วยกันก็จะอิจฉา และผู้ชายก็จะยอมรับได้ยาก แต่ถ้าหากเก่งเกินชายไปเลย ก็จะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากชายและหญิง ก็ดูอย่าง อินทิรา คานธี หรือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นไร 

เก่งแล้วให้สบายใจด้วย ทำอย่างไรดี 

นั่นคือคำถามที่ผมได้รับ จากคนเก่งอยู่เรื่อยๆ 
ก็เลยอยากแนะนำว่า 

1. ต้องรู้จักถ่อมตัวให้เป็น อย่ายกตัวนัก คนเขาไม่ชอบ จงให้โอกาสคนอื่นเขาเก่งบ้าง สนับสนุนหรือให้โอกาสคนอื่นเขาพูด ถึงความสำเร็จของเขาบ้าง ชมเขาด้วย และต้องชมด้วยความจริงใจ 

2. ทักทายคนอื่นก่อนเสมอๆ จับไม้จับมือลูกน้องบ้างเมื่อมีโอกาส (เพศเดียวกัน) ถ้าไปงาน ชุมนุมศิษย์เก่าของสถาบัน คุณก็ต้องเป็นฝ่ายไปทักทายเพื่อน ฝูงก่อนเสมอ อย่ารอให้เขามาทักทายเรา เพราะจะมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่กล้าหรือไม่ยอมเข้ามาทัก แต่จะไปนินทาลับหลังว่า หยิ่ง ...ยโส จงยิ้มแย้มแจ่มใสต่อคนอื่นเสมอๆ เมื่อมีโอกาสก็ให้วานลูกน้องหรือคนอื่น ทำอะไรให้ตัวเองเสียบ้าง ก็คือทำตัวเป็นคนไม่เก่ง หรือเป็นคนอ่อนแอเสียบ้าง คนที่เขาได้ทำอะไรให้เราได้บ้าง เขาจะได้ชื่นใจ 

3. มีความคงเส้นคงวา รักษาความเก่งให้คงที่ เพราะคนเก่งนั้นคนเขาคาดหวังสูง ถ้าทำอะไรเหมือนคนทั่วๆ ไป คนอื่นเขาก็จะแลดูว่า ธรรมดาหรือไม่เข้าท่า ฉะนั้น ขั้นตอนการทำงานและประสิทธิภาพ ในการทำงานของคนเก่ง จะต้องดีกว่าคนอื่นๆ 

4. มีโลกส่วนตัวของตัวเอง จงคบกับเพื่อนสนิทๆ ที่จะได้บ่น หรือแสดงความอ่อนแอได้บ้าง ฝึกหัดจิตใจของตัวเอง ให้ยอมรับความพ่ายแพ้ ที่จะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งแน่ๆ เพราะแม้ว่าเราจะเก่งแค่ไหน แต่เราก็ต้องแก่ลงๆ จะมีคนอื่นที่เก่งกว่า เข้ามาแทนที่ เราจะได้ไม่เสียใจมากขึ้นเมื่อถึงเวลานั้น 

5. คนเก่งทั้งหลายมักมีเงื่อนไขมาก ต้องลดเงื่อนไขในชีวิตของตนเอง และกับคนอื่นลงด้วย ต้องฝึกใจให้มีความรัก อย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned Love) กับบุคคลทั่วๆ ไป รักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ ของเขาเท่านั้นก็พอ ใจจะกว้างขึ้น 

6. ต้องมีการรู้ระวังตัวเอง (Self Awareness) อยู่ตลอดเวลา รู้ว่าตอนไหน ควรทำอะไรและอย่างไร จึงจะเหมาะสม ความเหมาะสมเป็นสิ่งที่ คนเก่งมองข้ามเสมอ เพราะมักจะมองแค่ความถูกต้องเรื่อยๆ 

7. ช่วยพัฒนาลูกน้อง หรือคนข้างเคียงไปด้วย เขาจะได้ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง 

ก็ขอให้คนเก่งทั้งหลายจงโชคดี อย่าเก่งแล้วโชคร้าย โดยมีคนเกลียด รอบข้างมากมายเลย 

เรียบเรียงโดย : ศ.ดร.น.พ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์) 

ส่วนตัว บริหาร การตลาด เพื่อน

ส่วนตัว/บริหาร/การตลาด : "เพื่อน"


ส่วนตัว

เคยคิดถึงคำๆนี้กันมากขนาดไหน ชีวิตส่วนใหญ่เราจะมีเพื่อนที่ดีๆสักกี่คน มีเพื่อนที่มีความจริงใจให้กันสักกี่คน การคบกัน รู้จักกัน สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เสมอ แต่การรักษาเพื่อน รักษาความสัมพันธ์ ที่มีความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น เป็นสิ่งที่จะยากกว่า เพราะ กว่าจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันนั้น มันต้องใช้เวลา แต่การที่จะเสียความรู้สึกที่ดีๆไปนั้น มันง่าย และ เร็วมาก.. คิดถึงเพื่อนเก่า ที่มีความจริงใจบ้างหรือเปล่าหละตอนนี้.. ติดต่อหาเขาอยู่หรือเปล่าครับ... แล้วมีเพื่อนเก่าๆกี่คนที่ยังติดต่อกับเราอยู่ ยังมีความรู้สึกดีๆกับเราอยู่ ยังจริงใจและให้ความช่วยเหลือเราอยู่...


บริหาร

เราไม่สามารถทำงานได้เพียงคนเดียว เราไม่สามารถบริหารส่วนงานของเราโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ดังนั้น การผูกมิตรกับส่วนต่างๆ แผนกต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีอยู่เสมอ มนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้งานบริหารบุคคลเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อนทางงานบริหาร ยังคงเป็นเพื่อนที่เอื้ออำนวยการทำงานซึ่งกันและกัน ยังคงต้องมีการปรานีประนอม ยอมรับความสามารถของแต่ละบุคคล ความจริงใจที่ให้กันจะเป็นผลส่งให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกันมีเพิ่มมากขึ้น

เพื่อนทางบริหารยังต้องรวมถึง ลูกน้องที่อยู่ใต้ร่มเงา การมองลูกน้องเป็นเพื่อนในทางบริหารนั้น ทำให้เราเข้าใจความต้องการของลูกน้องได้ดีขึ้น เข้าใจถึงการทำงานของเขาเหล่านั้น การแบ่งชนชั้น จะทำให้งานบริหารทำได้รวดเร็ว และ ได้ตามเป้าหมายก็จริง แต่เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน การคิดเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นเพื่อนที่กินเงินเดือนเหมือนกับเรา จะทำให้คุณค่าความเป็นคนของเรามีมากขึ้น ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข...


การตลาด

เพื่อนทางการตลาด ระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทฯ คนส่วนใหญ่ก็เรียก พันธมิตรทางการค้า ซึ่งมีไว้เกื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันขายสินค้า หากทำบริษัทเดียวก็อาจจะทำไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย แต่หากร่วมมือร่วมใจกัน โฆษณา โปรโมชั่น การแลกซื้อสินค้า และ แนวทางการตลาดอื่นๆ ก็จะส่งผลให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มพันธมิตร แล้วคุณมีพันธมิตรบ้างหรือยัง...

เพื่อนการตลาดอีกประเภทก็คือลูกค้าของเราครับ การให้ความห่วงใย นำเสนอสิ่งที่จะส่งเสริม และ สนับสนุนการเป็นอยู่ของลูกค้า การซื่อสัตย์กับลูกค้า เป็นสิ่งที่จะทำให้จิตใจของลูกค้านั้นมีความต้องการและโหยหาเพื่อนอย่างเรา การมุ่งหวังเพียงแต่จะได้ของเพื่อน ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นฉันใด การมุ่งหวังแต่กำไรของบริษัทฯจากลูกค้า ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นฉันนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า กับ เรา มีผลต่อการสั่งซื้อครั้งต่อๆไป หากคุณมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ก็จะพบว่า หากเขาต้องการสินค้าที่เรามี เขาจะใช้ของเรา หรือคู่แข่ง.. คุณยังต้องการเพื่อนที่เป็นลูกค้าอยู่หรือไม่.. แล้วคุณปฏิบัติกับเพื่อนของคุณอย่างไร...

เพื่อนรอบข้างมีมากมาย คุณอยากได้เพื่อนอย่างไร อยากได้ใจเพื่อนอย่างไร ก็ทำให้เขาก่อนอย่างนั้น.. เอาหลักการที่คุณคบกับเพื่อนแท้ และเอาหลักที่เพื่อนแท้ของคุณคบกับคุณ แล้วคุณก็เอาหลักการเดียวกัน มาประยุกต์เข้ากับงานบริหาร เข้ากับการตลาด.. ทำอย่างจริงใจ และ เป็นธรรมชาติ.. ผมว่าคุณก็จะมีเพื่อนมากมาย ทั้งในชีวิต งาน และ ธุรกิจ ของคุณ...

โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

ส่วนตัว บริหาร การตลาด วิธีการหาเพื่อนใหม่

ส่วนตัว/บริหาร/การตลาด : "วิธีการหาเพื่อนใหม่"


ผมจะพูดถึง 4 ประเด็นในการหาเพื่อนใหม่ครับคือ
1. เพื่อนๆแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่
2. เข้าไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่
3. การเป็นที่ยอมรับของสังคม
4. เห็นหน้ากันบ่อยๆ ได้รับข่าวสารของเราบ่อยๆ
และทั้ง 4 ประเด็นก็สามารถใช้งานกับทั้ง เรื่องส่วนตัว การบริหาร และ การตลาดได้เช่นกันดังนี้ครับ



ส่วนตัว
1. เพื่อนๆแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่ ก็เป็นลูกโซ่กันครับ อย่างน้อยเพื่อนของเราก็คัดเลือกคนที่ดีๆมาให้ก่อนแล้ว แล้วก็เป็นคนเข้ากันได้ง่ายเพราะเพื่อนเราสามารถอ้างอิงเราได้ อยากได้ข้อมูลของเพื่อนใหม่ก็ถามเพื่อนเก่าได้ สนิทสนมเร็ว

2. เข้าไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ อันนี้ต้องลดความอายลงให้มากเลยครับ กว่าจะสนิทกว่าจะเข้าใจกันก็คงต้องใช้เวลาคบหากัน ติดต่อกันพอสมควร ครับ.. กว่าจะเชื่อใจ กว่าจะเข้าใจกันครับ

3. การเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้คนที่อยากรู้จักคนในลักษณะอย่างเรา ได้เข้ามารู้จักกับเรา เข้ามาทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ทำให้เราสามารถเรียนรู้กันและกันได้เช่นกัน

4. เห็นหน้ากันบ่อยๆ ได้รับข่าวสารของเราบ่อยๆ ก็จะเหมือนกับรู้จักกันไปเลย อย่างในเนทฯนี่ ก็เป็นลักษณะที่เห็นแต่ตัวอักษร ไม่รู้จักตัวตนจริงๆ พอไปพบไปเจอก็ทำให้เรารู้จักกันง่ายเข้าครับ



บริหาร

1. เพื่อนๆแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่ เหมือนกับเพื่อนผู้บริหาร แนะนำเพื่อนมาทำงานกับสายงานของเรา หรือ แนะนำคนที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ หรือ เคยเจอปัญหาลักษณะนี้มาแล้ว ทำให้เรามีความรู้ที่แตกฉานมากขึ้น การแนะนำนั้นเป็นเรื่องปกติของการแนะนำคนเข้ามาทำงานในส่วนต่างๆ คุณจะได้คนที่มีความสามารถมาร่วมงานหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับเพื่อนคุณที่แนะนำเข้ามาแล้วครับ

2. เข้าไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ การที่จะเข้าไปหาเพื่อนร่วมงานใหม่สักคนก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการรับลูกน้องใหม่เข้าทำงานเป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาว่าเขามีความสามารถทางด้านใด มีความคิดอ่านเป็นอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราจึงสามารถจับจุดของคนๆนั้นได้ แล้วงานบริหารของเราก็จะทำได้อย่างราบรื่น และ ได้รับการยอมรับจากลูกน้องได้อย่างรวดเร็วครับ..

3. การเป็นที่ยอมรับของสังคม บริษัทฯใหญ่ๆจะเห็นว่า การรับสมัครคนเข้ามาทำงานสักตำแหน่งสองตำแหน่ง มีคนมาสมัครเป็นร้อย เป็นพัน ให้เลือก ในขณะที่ บริษัทฯเล็กๆ กลับไม่มีใครสนใจที่อยากจะสมัคร นั่นเป็นสิ่งยืนยันอย่างหนึ่ง และยิ่งหากผู้บริหารคนนั้น มีหน้ามีตาในสังคม เป็นคนที่มีความคิดความอ่าน มีความเป็นผู้บริหารเต็มร้อยแล้ว ก็มีส่วนที่จะทำให้คนมาสมัครงานเพื่อจะทำด้วย หรือแม้นแต่ดารา ก็มีคนที่อยากจะสมัครไปทำงานด้วยมากมายเช่นกัน..

4. เห็นหน้ากันบ่อยๆ ได้รับข่าวสารของเราบ่อยๆ ไม่รู้ว่าคุณเป็นหรือเปล่า แต่ในวงการดารา มีมากเหมือนกัน อย่างเช่น มีดาราหลายต่อหลายคน มาจากเบื้องหลัง จัดฉาก แต่งหน้า หรือ มาเป็นเพื่อนที่เป็นดาราอีกที คราวนี้ เมื่อขาดดาราประกอบ หรือ ขาดดาราเพื่อแสดงหนังเรื่องใหม่ ที่มีลักษณะที่ตรงกับคนที่เคยพบในกองถ่าย ผู้กำกับก็คงไม่ต้องไปหาดาราที่อื่นๆอีกแล้วครับ.. เอาคนนี้แหละตรงตามบุคคลิกเลย..



การตลาด

1. ลูกค้าๆแนะนำลูกค้าใหม่ เป็นวิธีการดั้งเดิมทางการตลาด การบริการลูกค้าเก่าอย่างดี จะทำให้ลูกค้าเก่าเชื่อใจและวางใจเพื่อแนะนำ เพื่อนๆ ในวงการ หรือนอกวงการ ที่ต้องการสินค้าเรา หรือ บริการของเรา ให้เพื่อนๆเขาได้ใช้สินค้าหรือบริการที่ดีของเราอีกที แล้ว คุณได้บริการลูกค้าเก่า ให้ความช่วยเหลือลูกค้าเก่า หรือ ติดต่อกับลูกค้าเก่าบ่อยเพียงใด สนใจลูกค้าเก่ามากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้มันเป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเลยครับว่า คุณจะได้ลูกค้าจากการแนะนำได้มากน้อยเพียงใด ถ้าคุณมี คุณทำ คุณก็จะได้ต่อยอดการขายให้กับลูกค้าใหม่ออกไป แต่ถ้าไม่มีจงรีบทำได้แล้วครับ

2. เข้าไปทำความรู้จักลูกค้าใหม่ การตลาดส่วนใหญ่มุ่งเน้นลูกค้าใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าใหม่เสียทั้งเวลา และ เงินทุน กว่าจะได้มาสักรายไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะรู้ใจกันว่าชอบสินค้าลักษณะไหน ราคาประมาณเท่าใด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แล้วหามาได้แล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะดีหรือร้าย ก็ต้องลองใจกันหละทีนี้..

3. เป็นที่ยอมรับของสังคม หากสินค้าหรือการบริการของคุณ เป็นที่ยอมรับในสังคม หรือมี Brand ที่มีฃื่อเสียง นั่นก็เป็นการันตีอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกว่า ลูกค้าจะเข้ามาเพื่อซื้อสินค้าและการบริการของคุณเองเช่นกัน ดังนั้น การสร้างแบรนด์ การสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทฯ ก็จะเป็นการสร้างการยอมรับในสังคม เพื่อให้คุณได้มีโอกาสที่ลูกค้าจะเข้าหามากขึ้นด้วยครับ

4. เห็นหน้ากันบ่อยๆ ได้รับข่าวสารของเราบ่อยๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักเรา ถึงแม้นว่าตอนนี้ยังไม่สามารถใช้บริการ หรือ สินค้าของเราได้ แต่วันหน้าหากมีโอกาสที่จะซื้อสินค้า หรือ บริการในแนวเรา เขาจะนึกถึงสิ่งที่เค้าได้รับข้อมูลข่าวสารบ่อยๆ แล้วใช้บริการ หรือ สินค้านั้นๆ ทำไมเป๊ปซี่ หรือ โค้ก ยังต้องโฆษณากันอยู่ ทำไมเราได้เห็นโฆษณาของเหล้าอยู่บ่อยๆ โฆษณาของสินค้าที่เราไม่ได้ใช้อยู่บ่อยๆ นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่การตลาดต้องทำเพื่อสร้างลูกค้าในอนาคตเช่นกัน...

โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

วิธีการพัฒนาปัญญา


"ปัญญา" แปลว่า "รู้" เป็นคุณสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ จัดเป็นนามธรรม มีสมองซึ่งเป็นรูปธรรมเป็นฐานกำเนิด การทำงานของสมองที่กระตุ้นให้จิตเกิดปัญญา หรือมีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านทวาร หรือ อายาตนะทั้งหกเข้ามานี้ เรียกว่า "ปัญญาเจตสิก" ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่สอดคล้องกับอายุวัยเท่าที่ควร จึงถูกเรียกว่า เป็นคนปัญญาอ่อน หรือ ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองเสื่อมสภาพไปตามอายุวัย จะมีอาการหลงๆ ลืมๆ สติปัญญาไม่แตกฉานเช่นแต่ก่อน ทางการแพทย์เรียกว่า เป็นโรคความจำเสื่อม หรือ "อัลไซเมอร์"

ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ท่านได้จำแนกลักษณะของปัญญาไว้ ๓ ระดับ หรือที่เรียกว่า "ปัญญา ๓" ดังต่อไปนี้

๑. สัญญา รู้จัก เป็นความรู้ผิวเผิน คือ รู้แต่เพียงสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มาได้ประสบทางอายาตนะว่า เป็นอะไรอันหนึ่ง แต่ไม่รู้ชัดว่า เป็นอะไรแน่ เป็นวิวัฒนาการทางสมองในชั้นต้นๆ ของมนุษย์ในวัยทารกที่เพิ่งจะรู้ความ มีอายุระหว่าง ๓ เดือน ถึง ๓ ปี เมื่อเห็นธนบัตร อย่างดีจะรู้เพียงว่า เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งที่มีรูปลักษณะแบน สี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่า เป็นเงินตราที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

๒. วิญญาณ รู้แจ้ง คือ รู้ได้ดีกว่าข้อแรก เป็นวิวัฒนาการทางสมองของมนุษย์ในขั้นต่อมาซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไปจนถึง ๑๕ ปี เป็นปัญญาที่เกิดมาจากได้รับการอบรมสั่งสอนของบิดามารดา หรือ โดยการศึกษาจากโรงเรียนในระดับต้นๆ เป็นความรู้ระดับชาวบ้านทั่วไป เมื่อเห็นธนบัตร ก็พอจะรู้ความว่า เป็นเงินตราที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ไม่สามารถจะจำแนกแยกแยะได้ว่า เป็นธนบัตรดี หรือธนบัตรปลอม

๓. ปัญญา รู้ทั่ว คือ รู้ได้อย่างละเอียดว่า สิ่งนั้นๆ เป็นอะไร มีแหล่งกำเนิดมาอย่างไร ใครเป็นคนทำ ใครเป็นเจ้าของ เป็นวิวัฒนาการทางสมองของมนุษย์สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการศึกษาและประสบการณ์ของชีวิตที่เพิ่มขึ้นในวัยอายุที่ผ่านมา เมื่อเห็นธนบัตร จะรู้ได้ทันทีว่า เป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ เป็นเงินตราสกุลใด

ปัญญาของมนุษย์มีบ่อเกิดมาจากการฟังที่เรียกว่า "สุตามยปัญญา" เป็นปัญญา ที่เกิดจากการเล่าเรียน หรือถ่ายทอดกันมาหนึ่ง มาจากการคิดพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง ที่เรียกว่า "จินตามยปัญญา" หนึ่ง และมาจากการสร้างขึ้นมา ทำให้เจริญพัฒนาขึ้นมาที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการใช้สมองในการทำกิจกรรมต่างๆ คือ การฟัง ซักถาม สอบค้น การสนทนา การถกเถียง อภิปราย การสังเกตดู เฝ้าดู ดูอย่างพินิจ การพิจารณาโดยแยบคาย การชั่งเหตุผล การไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง เป็นต้น

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องวิธีการสร้างปัญญา ไว้ดังนี้

"การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จะต้องเรียนความรู้ของผู้อื่นก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อรู้แล้วจึงมาพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นเด่นชัดละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ถึงเนื้อหาสาระ จึงจะอ้างอิงเป็นหลักฐานได้ ไม่ใช่เป็นความรู้อย่างเลื่อนลอย แต่แม้ถึงขั้นที่สองแล้ว ก็ยังถือว่า นำมาใช้ให้ได้ผลจริงๆ ไม่ได้ ยังจำเป็นจะต้องนำความรู้นั้นมาปฏิบัติฝึกฝนอีก เพื่อให้ผลประจักษ์แจ้ง และเกิดความคล่องแคล่ว ชำนิชำนาญขึ้นพร้อมกันไปด้วย จึงจะนำไปใช้ปฏิบัติงานให้เกิดผลได้ไม่ขัดข้อง"

ตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาที่เกิดจาการสดับตรับฟังมา ก็ดี ปัญญาที่เกิดจากการคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ดี และปัญญาที่ทำให้เกิดความรู้เข้าใจอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ดี เป็นปัญญา หรือความรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิดโดยวิวัฒนาการของสมองที่เป็นไปโดยธรรมชาติ การศึกษาเล่าเรียน การคิด การสดับตรับฟัง และการหมั่นใช้สมองเพื่อการกระทำต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นเครื่องช่วยให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้นใหม่บ้าง พัฒนาก้าวหน้าออกไปมากยิ่งขึ้นบ้าง ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องขึ้นบ้าง จัดเป็นปัญญาทางโลกเรียกว่า "โลกิยปัญญา"

ดร.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Dr. Albert Einstein) นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ ผู้ปราดเปรื่องของโลก ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องการสร้างปัญญาไว้มีสาระสำคัญว่า

"ถ้าท่านหมั่นใช้สมองคิดพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงเรื่องเดียวอย่างต่อเนื่องทุกวัน วันละ ๑๕ นาที ท่านจะมีปัญญา มีความรู้แตกฉานในเรื่องที่คิดพิจารณานั้นภายใน ๑ ปี หากท่านสามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่องได้นานถึง ๕ ปี ท่านจะมีปัญญา มีความรู้แตกฉาน เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติในเรื่องนั้น"

ผมได้เคยสอบถาม นายแพทย์เฉก ธนะสิริ เพื่อนสนิทของผม และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมองและประสาทถึงเหตุผลทางวิชาการแพทย์ว่า คำกล่าวของ ดร.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ข้างต้นนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร ได้รับคำชี้แจงว่า สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาท (Neuron) เป็นจำนวนมาก ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐-๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านเซลล์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างกันในรูปแบบต่างๆ นับไม่ถ้วน เพื่อสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่นในกรณีที่เราได้เรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ในสิ่งใหม่ๆ ขึ้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนรูปการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทนั่นเอง

เมื่อเราใช้สมองคิดอยู่ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงเรื่องเดียว หรือที่เรียกกันตามคำศัพท์ภาษาทางพุทธศาสนาว่า "วิตก" เซลล์ประสาทของสมองจะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันในรูปแบบหนึ่ง หากเราใช้สมองคิดอยู่ในเรื่องเดียวกันนั้นอยู่เป็นเวลานานๆ หรือที่เรียกกันตามคำศัพท์ภาษาบาลีว่า "วิจาร" เซลล์ประสาทของสมองจะเกาะรวมตัวเหนียวแน่นยิ่งขึ้น จึงทำให้ปัญญาของบุคคลนั้นได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น และหากได้ใช้สมองคิดในเรื่องเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ความเป็นอัจฉริยะในเรื่องที่เฝ้าคิดอยู่เป็นประจำย่อมจะบังเกิดขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่จิตเป็นสมาธินั้น เซลล์ประสาทของสมองที่ชำรุดจะได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนการทำงานชั่วคราว หันมาทำการซ่อมแซมบำรุงรักษาตนเองให้มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเดิม เสมือนกับการประจุไฟฟ้าเข้าหม้อแบตเตอรี่ หรือ การชาร์จแบตเตอรี่ ดังนั้น จะสังเกตได้ว่า หลังจากการปฏิบัติสมาธิแล้ว ผู้ปฏิบัติจะมีความรู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษ

ดังนั้น การที่ ดร.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งมิได้มีความเชี่ยวชาญในทางการแพทย์ แต่ก็สามารถกล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง เป็นที่รับรองของแพทย์ผู้ที่ได้ศึกษามาโดยตรงนั้น ผมเชื่อว่า ดร.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้มีความสนใจศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนามาไม่น้อย เพราะวิธีการที่จะทำให้เกิดวิปัสสนา และสมถสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ใช้หลักการเดียวกัน คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ฌาณนั่นเอง

จึงเป็นการยืนยันพิสูจน์ตามหลักวิชาการแพทย์ได้อย่างแน่นอนว่า การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนาปัญญาได้เป็นอย่างดี หากผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้เป็นประจำ และต่อเนื่อง ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของหทัยวัตถุ คือ สมอง จะมีพลังเพิ่มสูงขึ้นโดยลำดับและคอยเฝ้ากระตุ้นจิตให้บังเกิดเป็นกุศลจิต คือ เป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เป็นจิตที่ดี ที่งาม ที่ฉลาด ที่สะอาด ที่ปราศจากทุกข์โทษ และให้ผลเป็นความสุขอยู่ตลอดเวลา

พระปัญญาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิของพระพุทธองค์ซึ่งได้ทรงปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ความเป็นอัจฉริยภาพของพระพุทธองค์จึงบังเกิดขึ้น ทรงตรัสรู้แจ้ง เห็นจริงในแก่นแท้ที่สุดของความจริงที่เรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" ในสภาวธรรมทั้งปวง ซึ่งได้อุบัติขึ้นในมนุษยโลก พรหมโลก เทวโลก นรกภูมิ รวมทั้งในเอกภพ หรือ จักรวาล อย่างทะลุปรุโปร่ง พระปัญญาคุณของพระพุทธองค์จึงจัดเป็น "โลกุตรปัญญา" เพราะ เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ มีคุณภาพสูงเหนือกว่าโลกิยปัญญาอย่างมากมาย พระนาคเสนได้ทูลตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์เกี่ยวกับลักษณะของปัญญาในเชิงอุปมาอุปมัย ดังแสดงไว้ในหนังสือมิลินทปัญหาตอนหนึ่ง มีสาระสำคัญว่า เสมือนกับการจุดประทีปขึ้นในห้องมืด แสงประทีปย่อมจะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนว่า ในห้องนั้นมีทรัพย์สมบัติอะไรบ้าง วางไว้ที่ใดบ้าง และอีกตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับโพธิฌงค์ ๗ ที่พระนาคเสนได้ทูลตอบไว้ในเชิงอุปมาอุปมัยว่า ธรรมวิจัย หรือ การหมั่นศึกษาค้นคว้าหาแก่นแท้ที่สุดของความจริงในสภาวธรรมทั้งปวงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในจำนวนข้อปฏิบัติ ๗ ข้อ เพราะเป็นการปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง สามารถดับทุกข์ ตัดกิเลสได้ ธรรมวิจัยเสมือนกับ กระบี่ที่ถูกลับให้มีความคมกริบอยู่เสมอ เมื่อถูกชักออกจากฝัก ก็สามารถใช้ฟันฟาดตัดขาดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย

ตามความเป็นจริงแล้ว เราสามารถพัฒนาปัญญาได้โดยการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ วิธีปฏิบัติในลักษณะนี้ได้ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ให้มีข้อปฏิบัติเพิ่มขึ้นอีก ๑ ข้อ เรียกรวมกันว่า "ไตรสิกขา" ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ที่ต้องทรงบัญญัติไว้เช่นนี้ เนื่องจากได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้ที่ไม่รักษาศีลอาจนำปัญญาที่เกิดจากสมาธิไปใช้ในการเบียดเบียนข่มเหงผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน อาทิ การใช้คาถาเวทมนต์เพื่อปลุกเสกน้ำมนต์ น้ำมันพรายเพื่อทำเสน่ห์ เพื่อการโจรกรรม การประกอบมิจฉาชีพต่างๆ เป็นต้น มีนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ จำนวนไม่น้อยที่สามารถหาวิธีคอรัปชั่น คดโกงในการหาเสียงเลือกตั้ง ฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งวิธีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีได้อย่างแนบเนียน เพราะเจ้าตัวมีสมาธิพื้นฐานเพียงพอที่จะช่วยในการสร้างปัญญา แต่เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ไม่มีสัตย์ ไม่มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป จึงสามารถประกอบอกุศลกรรมได้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญญาที่ได้เกิดขึ้นจากการพัฒนาของแต่ละบุคคลย่อมไม่เท่ากัน จะขึ้นอยู่กับปัญญาที่ได้สะสมมาตั้งแต่อดีต และได้ส่งผลให้เกิดพื้นฐานของบุคคลนั้นๆ ในชาติภพนี้ หากนำบุคคลสองคนมาปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิเพื่อพิจารณาเรื่องเดียวกันเช่น กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การกำหนดสติให้ระลึกรู้เรื่องเกี่ยวกับร่างกาย) ในระยะเวลาเท่ากัน คนหนึ่งมีคุณวุฒิจบการศึกษาระดับปริญญาแพทย์ อีกคนหนึ่งมีคุณวุฒิจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปัญญาที่คนแรกได้พัฒนาขึ้นมาจะแตกฉาน เพราะได้เคยศึกษาพิจารณาเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับอวัยวะของร่างกายทั้งภายนอก และภายใน มาโดยตลอด ทราบแม่นยำอยู่ในใจว่า สมอง หัวใจ ปอด ตับไตไส้พุง มีรูปร่าง มีความสำคัญอย่างไร ส่วนอีกคนหนึ่งนั้น อย่างมากก็รู้จักคุ้นเคยอวัยวะภายนอกเท่านั้น เรื่องนี้จะอธิบายในเชิงอุปมาอุปมัยได้ดังนี้

มีบุคคลอยู่สองคนปลูกต้นไม้พันธุ์เดียวกันในวันเวลาเดียวกัน คนหนึ่งนำขึ้นไปปลูกบนยอดเขา อีกคนหนึ่งปลูกอยู่ตีนเขา ต้นไม้ที่ได้ปลูกบนยอดเขาย่อมจะต้องสูงกว่าต้นที่ได้ปลูกไว้ที่ตีนเขาอย่างแน่นอน

ในพระพุทธประวัติ ได้มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หลายท่าน ทีได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ทั้งนี้ เพราะท่านเหล่านี้ได้สะสมปัญญาบารมีมามากแล้วในอดีต แม้แต่พระพุทธองค์เอง ก่อนที่จะปฏิสนธิมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ยังต้องเสวยพระชาติหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบำเพ็ญปัญญาบารมี โดยเฉพาะ

เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า การหมั่นพัฒนาปัญญาไม่ว่า จะเป็น โลกิยปัญญา หรือ โลกุตรปัญญา ก็ตาม จะสามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุด เมื่อท่านมีอายุย่างเข้าวัยชราเกินกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป ผมรับรองว่า โรคความจำเสื่อมจะไม่มีโอกาสมาเยี่ยมกรายท่านอย่างแน่นอน ในทางตรงข้าม หากท่านใช้ชีวิตใช้เวลาให้หมดไปโดยไม่หมั่นใช้สมองพัฒนาปัญญาด้วยการคิด การอ่าน การเขียน หรือ การปฏิบัติสมาธิ ท่านจะต้องเผชิญกับโรคสมองฝ่อ ความจำเสื่อมอย่างไม่ต้องสงสัย

*********************
เอกสารอ้างอิง
๑. หนังสือ "พุทธธรรม", พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต), มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒. นิตยสาร "ธรรมจักษุ" เดือนกันยายน ๒๕๔๐, มหามกุฏราชวิทยาลัย
๓. "โครงสร้าง และ ระบบการทำงานของร่างกาย", ผศ.มิ่งขวัญ มิ่งเมือง Ph.D. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๔. "If It Helped Einstein", Daniel Amen M.D., Expression Magazine April/May 1998

เรียบเรียง ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๑
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์


         สิ่งที่นักการตลาดกล่าวถึงกันมาก และผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนี้ก็คือเรื่องของการสร้างหรือทำแบรนด์ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Branding ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะว่าตลาดส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอิ่มตัว ผู้บริโภคมีแบรนด์(ตรา หรือยี่ห้อ) ให้เลือกมากมาย ทั้งตัวเลือกทางตรง เช่น Competing Brands ต่าง ๆ และตัวเลือกทางอ้อม เช่น Subsitugd Products ที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด รวมทั้ง Global Brands (ยี่ห้อสินค้าต่างประเทศ) ต่าง ๆ ที่ทยอยกันเข้ามาเจาะตลาดในประเทศและถล่ม Local Brands(ยี่ห้อสินค้าภายใน) อย่างยับเยิน เช่น Starbuck, McDonald’s และ KFC เป็นต้น ทำให้คนไทยรุ่นใหม่ต้องยอมควักเงินเพิ่มขึ้น 4 ถึง 5 เท่า เพื่อซื้อกาแฟมียี่ห้อ อย่างStarbuck หรือไก่ยี่ห้ออย่าง KFC ในขณะที่สามารถซื้อกาแฟและไก่ย่างอร่อยๆ ที่ขายอยู่ทั่วๆไปแทบทุกตรอกซอกได้ในราคาถูก ๆ แม้แต่ ไก่ที่มียี่ห้อกำลังฮิต (Weaker Branded Chicken) อย่าง Chester Grill ก็ยังโดนไก่ที่มียี่ห้อเหนือกว่า(Storng Branded Chicken) อย่าง KSC ถล่มอย่างไม่ไว้หน้า CP ที่แย่กว่านั้นก็คือ ทั้ง KFC และ Chester Grill ต่างก็ซื้อไก่จาก CP แต่ก็พอติดยี่ห้อ KFC ปั๊บรสชาติก็อร่อยกว่า Chester Grill ในทุกสถานที่ที่ต้องเผชิญหน้ากันถึง 40 – 50 เท่า นี้ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของ Branding ก็คงยากที่จะหาอะไรมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ เหล่านี้ได้อย่างสมเหตุสมผล

ถึงแม้ว่าการสร้างแบรนด์ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์ทางธุรกิจในปัจจุบันก็ตาม แต่ Branding เป็นสิ่งที่ค่อนมีใครเข้าใจมากที่สุด ทั้งอยู่ในวงการและนอกวงการการตลาด สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ Branding ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปิดตำราทำกันได้ง่าย ๆ หรือคิดว่าอ่านตำราเยอะ ๆ แล้วจะทำได้ดี ตลอดทั้งไม่สามารถที่จะนำวิธีการสร้างแบรนด์ที่ได้ผลกับแบรนด์หนึ่ง มาใช้กับอีกแบรนด์หนึ่งอย่างได้ผลดี

นักการตลาด นักธุรกิจ นักโฆษณา นักเขียน และนักวิชาการ มีความเชื่อว่าอย่างผิด ๆ ว่า Branding คือการโฆษณาหรือเป็นเพียงการบริหารจัดการภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ หรือเป็นเพียงกิจกรรมการตลาดที่เลือกสรรมาเพื่อสร้างแบรนด์ แต่แท้จริงแล้ว Branding เป็นเครี่องมือหลักในการในการสร้างสรรค์และรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรที่เรียกว่า Competitive Advantage การสร้างแบรนด์จะสำเร็จก็ต่อเมื่อแบรนด์นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือวัฒนธรรมที่ทุกคนยอมรับ ดังนั้น Branding จึงเป็นมุมมองของการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ๆ

โดยทั่วไปคิดว่าการสร้างตราสินค้า, สัญลักษณ์,เครื่องหมายการค้าและคุณสมบัติเฉพาะที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักคือการสร้างแบรนด์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นรูปโฉมภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากความหมายและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจที่ควรค่าแก่การติดตามของผู้บริโภคจึงทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะร่วมกันทำให้เกิดแบรนด์ที่จะถูกจดจำได้อย่างมีความหมายในใจของผู้บริโภคผิดกับแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง McDonald’s , IBM
และ KFC เป็นต้นที่มีประวัติศาสตร์(Brand History) ในใจของผู้บริโภคมาช้านานที่เกิดจากการสร้างสมประสบการณ์จากการใช้ผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่พบเห็นจากสื่อโฆษณาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแบรนด์ ซึ่งจะมีในนิตยสาร และข้อความในหนังสือพิมพ์ที่เขียนวิจารณ์แบรนด์ ตลอดจนการพูดถึงแบรนด์ในวงสนทนากับเพื่อนฝูงและผู้ร่วมงานอย่างต่อเนื่อง และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แบรนด์มีความหมายที่ควรค่าแก่การจดจำขึ้นทุกทีจนในที่สุดทำให้เกิด Branding Culture

ปัจจัยที่ทำให้เกิดBranding Culture(วัฒนธรรมตรา)

1. บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของตรา และวัฒนธรรมตราโดยการใช้กิจกรรมต่าง ๆ ทางการตลาด และพยายามสื่อสารให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าใจเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์

2. การนำเสนอตัวผลิตภัณฑ์ และชื่อตรา ในสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความตรึงตราตรึงใจ เช่นภาพยนตร์ จอเงินจอแก้ว นิตยสาร และอินเตอร์เน็ต

3. ผู้บริโภคหรือผู้มีอิทธิพลต่อการบริโภค มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างตรา เช่นผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มผู้นำ ผู้ชำนาญเฉพาะทาง คอมลัมนิสต์ นิตยสาร ดารานักร้อง พ่อแม่เพื่อนๆ เป็นต้น ส่งผลทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากบริโภคสินค้าและมีความมั่นใจในการบริโภคสินค้านั้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ผู้บริโภคมีตราตรึงจิต ทำให้มีเกิดส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้เกิดวัฒนธรรมตรา Branding Cluture ทำให้เกิดผล ดังนี้

1. พฤติกรรมการบริโภคของคนมากขึ้น ในแง่จิตวิทยา ถ้ามนุษย์เมื่อคุ้นเคย และพอใจสิ่งนั้นใดมาก ๆแล้วไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามหาสิ่งใดมาทดแทน และไม่ต้องการรับรู้หรือแสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์อื่นไม่ว่าแบรนด์เหล่านั้นน่าสนใจสักเพียงใด เช่นใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่งจนเคยชินด้วยการยอมรับตราสินค้าว่าใช้ง่ายและสะดวกที่สุด แล้วก็พอใจระดับหนึ่งกับการใช้สอยและรูปแบบต่างๆที่มีอยู่ในเครื่องแบรนด์นั้นเราก้ไม่พยายามที่จะดินรนหาข้อมูลเกี่ยวกับมือถือยี่ห้ออื่น

2. ที่สร้างแบรนด์เข้มแข็ง ทำให้เจ้าของแบรนด์มีอำนาจต่อรองในการเจรจากับผู้จำหน่ายสินค้า

3. สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ ทำให้สินค้ามียอดจำหน่ายค่อนข้างยั่งยืน และยากที่จะลอกเลียนแบบได้โดยง่าย

4. ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในตัวสินค้า ทั้งๆ ที่ไม่เคยใช้แบรนด์นี้มาก่อน

5. ทำให้ผู้บริโภคยอมเสียเงินเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากซื้อสินค้าที่ไม่มีแบรนด์

Brand value (คุณค่าของตรา) เกิดขึ้นจาก


1. คุณค่าของตราที่มีชื่อเสียง เกิดจาก ประวัติของตรา และวํฒนธรรมตรา

2. ความสัมพันธต่อตรา (Brand Relationship)ที่ดีต่อลูกค้า ทำให้เกิดความเชื่อถือในแบรนด์ เมื่อออกสินค้าใหม่ ๆ ลูกค้าก็ตัดสินใจซื้อแบรนด์นั้นไม่ยาก เนื่องมาจาก ประวัติตรา ภาพพจน์ และสังคมตรา(Brand Association)

3. ประสบการณ์ที่มีต่อแบรนด์นั้น ๆ ในทิศทางที่ถูกสร้างขึ้นจาก วัฒนธรรมตรา (Brand Culture)

4. Symbolic Value ในด้านการรับรู้ของผู้บริโภคเมื่อเลือกใช้แบรนด์นั้น ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 3 รูปแบบ คือ
. . 4.1 ให้ความรู้สึกถึงความแตกต่างตาม Brand Identity
. . 4.2 การที่ผู้ผลิตทำให้เกิดความรู้สึกมีหน้ามีตาทางสังคม (Social status) เช่น ผู้ใช้ Benz ผู้ใช้กระเป๋า Louis Vaitton เป็นต้น
. . 4.3 ให้มีความรู้สึกแตกต่างจากคนอื่น เช่น Exclusive sport club, Platinum Credit Card เป็นต้น

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์


1. ต้องดูเป้าหมายขององค์กร มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่ควรฝืนทำ เนื่องจากไม่ใช่ว่าทุกเป้าหมายขององค์กรจะเกี่ยวข้องกับสร้างแบรนด์ไปหมด ดังนั้นต้องดูเป้าหมายใดเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนลูกค้าให้รับรู้ Product Value การสร้างแบรนด์ไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

2. ต้องมีการประเมิน Brand Cultrue ของเราอยู่จุดใด และเปรียบเทียบแบรนด์ของคู่แข่ง

3. วิเคราะห์คู่แข่งขัน และสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อหา Branding Opportunity โดยต้องทำ Benchmark กับคู่แข่ง เพราะหัวใจของกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ คือ การที่จะสื่อสาร Superior Brand Value อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน การประเมิน Brand Culrue จึงควรเปรียบเทียบกับคู่แข่งให้ชัดเจน

4. การกำหนด Brand Slrategu พิจารณาจากข้อมูลทั้ง 3 ที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับ Brand Culture ของเราที่เป็นปัจจุบัน จะทำให้เราสามารถพัฒนา Brand Culture ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำBrand Culture จะต้องมี แผนปฏิบัติการที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าต้องใช้ส่วนผสมของตลาด (Marketing Mix) อะไรบ้าง และนำมาใช้อย่างไรในการสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องต่อเนื่องโดยไม่ขัดกับกิจกรรมทางการตลาดที่ทำมาก่อนหน้านี้

เครื่องมือการตลาด


ในการสร้างแบรนด์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการทำโฆษณา การส่งเสริมการขาย การตั้งราคาและการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงกิจกรรมทุก ๆ อย่างที่บริษัทได้ทำออกมาแล้วลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรับรู้ได้ว่าบริษัทจะตั้งใจทำหรือไม่ตั้งใจทำ เครื่องมือการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เป็นการช่วยสร้างแบรนด์ให้ได้ตามความต้องการ ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ทางการค้าด้วย

เครื่องมือการตลาด มีองค์ประกอบ 7 อย่าง คือ

1. นโยบายทางด้านผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอิทธิพลต่อการยอมรับของลูกค้าและส่งผลต่อแบรนด์สูงสุด นั่นก็คือ Product Design

2. การแพคเกจจิ้งบรรจุภัณฑ์ ต้องสื่อถึงเรื่องราวของแบรนด์ และช่วยสร้างภาพพจน์ให้กับแบรนด์และความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ภายในบรรจุภัณฑ์นั้น

3. การใช้โฆษณาในการสร้าง Brand Culture เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะสื่อโฆษณาสามารถบอกเรื่องราวเกี่ยวกับBrand ได้อย่างดี ดังนั้นโฆษณาที่ดีมีคุณภาพทำให้เกิดเกิดอิทธิพลต่อแนวความคิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์และภาพพจน์ของแบรนด์ให้เป็นไปตามแนวทางที่ผู้ผลิตต้องการ

4. การใช้ประชาสัมพันธ์โดยการใช้ผู้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค เช่นผู้เชี่ยวชาญ นักกีฬา ดารา ที่รู้จักแพร่หลายให้พูดถึงผลิตภัณฑ์หรือประสบการณ์ที่ดี เพื่อให้เกิด Popular Culture

5. ใช้กลยุทธ์ด้านราคา และการทำการส่งเสริมการขายมาช่วยในการสร้างแบรนด์ การส่งเสริมการขายไม่เน้นด้านราคากับแบรนด์ของคุณ จะทำให้แบรนด์ไม่เสียคุณค่า เช่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง หรือการทำ Co-Promotion ร่วมกับแบรนด์ที่มีราคาก็จะทำให้สินค้าดูมีเกรดขึ้น

6. การใช้ทีมงานขายในการสร้าง Brand Value เนื่องจากพนักงานขายที่มีความสามารถจะช่วยพูดให้ผู้ซื้อได้ให้เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับแบรนด์ให้ลูกค้าเข้าใจ ทำให้ส่งผลในการช่วยสร้าง Brand Culture ให้เกิดขึ้น

7. การเลือกช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางการค้าปลีกที่สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง จึงส่งผลต่อการสร้าง Brand Culture

ตัวชี้วัดในการสร้างแบรนด์ ( KBI หรือ Key Branding Index)


เป็นการติดตามประเมินผลของแบรนด์ที่เราได้สร้างขึ้นมา สามารถประเมินผล 4 อย่างคือ

1. Brand Loyalty Index (BLI) โดยใช้หลักการที่ว่าเมื่อคุณค่าของแบรนด์เพิ่มขึ้น ลูกค้าควรจะต้องซื้อแบรนด์ นั้น ๆ บ่อยขึ้นและเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่น ๆ น้อยลง

2. Brand Attitude Index ( BAI) เป็นการวัดทัศนคติของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ โดยใช้หลักเมื่อแบรนด์มีคุณค่ามากขึ้น เป็นที่รู้จักและยอมรับของผลประโยชน์จากแบรนด์ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ทัศนคติของลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีต่อแบรนด์ จะมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้นไปเรื่อย

3. Brand Relationships Index (BRI) โดยอาศัยหลักที่ว่าเมื่อคุณค่าของแบรนด์สูงขึ้นในใจของลูกค้า ๆ ก็จะรู้สึกว่าชีวิตประจำวันของตนนั้นต้องพึ่งพาแบรนด์เหล่านั้นเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อย ๆ กับแบรนด์เหล่านี้อย่างไม่รู้ตัว จนก่อให้เกิดความผูกพันกับแบรนด์ทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆเช่นเดียวกับการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนรู้ใจ

4. Brnad Equity Index (BEI) เป็นผลจากการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจึงทำให้บริษัทตั้งราคาได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่เหมือนกัน หรือตั้งราคาที่เท่ากันแต่ขายได้มากกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสร้าง ตราสินค้า เป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของธุรกิจ ทั้งนี้เพราะมูลค่าของตราสินค้ามีแต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปและจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ถ้าสร้างแบรนด์ ตรงกันข้ามกับทรัพย์สินทั่วไปของธุรกิจที่มีแต่จะเสื่อมราคาลงไปทุกปี ตัวอย่างเช่น มูลค่าของบริษัท Nike ทั้งหมด 80 % มาจากแบรนด์ ส่วนทรัพย์สินจริง ๆ มีมูลค่าเพียง 20% ของมูลค่ารวมทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งถ้าคุณจะซื้อบริษัท Nike วันนี้คุณต้องควักเงินจ่ายมากกว่ามูลค่าจริงของทรัพย์สิน ถึง 4 เท่า

ท้ายนี้หวังว่า กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ จะสามารถนำไปใช้งานได้ และทำให้คุณหันมาสนใจกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง วันหนึ่งคงจะได้เห็นแบรนด์ของคนไทยผงาดอยู่ในตลาดโลกอย่างสง่างาม

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม
5 ก.ค. 2550

เจ้านาย...


เป็นคนที่มีอำนาจเหนือเรา ซึ่งจะมีความเป็นผู้นำ และ สร้างภาวะผู้นำ ได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละบุคคล
เจ้านายไม่ใช่มีเพียงภาวะผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบจากหลายสิ่งหลายอย่าง ภาวะผู้นำเป็นเพียง องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น... เช่น

1. การวางเป้าหมาย
2. การกำหนดแผนงาน
3. การมอบหมายงาน และ ดำเนินการ
4. การติดตามงาน


ทั้งนี้ ภาวะผู้นำเป็นเพียงตัวขับเคลื่อนให้บุคคลที่เป็นเจ้านาย ได้สามารถติดต่อสื่อสาร ได้มีสัมพันธืกับลุกน้อง และ ได้รับความร่วมมือจากลูกน้องเป็นอย่างดี... ทำให้เจ้านายสามารถดำเนินกิจกรรม หรือ ธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 




โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

ผู้นำ...


เป็นคำที่เรียกคนที่มีภาวะผู้นำ ซึ่งคนที่มีลักษณะนี้เป็นคนที่เข้าใจ 3 สิ่งคือ

1. เข้าใจในตัวคน ทั้งตัวเอง และ ผู้อื่น การเข้าใจทั้งตัวผู้นำ และ การเข้าใจคนอื่นว่า แต่ละคนมีลักษณะอย่างไร ต้องการสิ่งใด ทำให้ผู้นำสามารถรับรุ้และ ชักจูงคนเหล่านั้นให้ไปในทิศทางที่ตนต้องการได้ คนที่หวาดกลัวก็ให้กำลังใจ คนที่ไม่ชอบข่มขู่ก็พูดจากับเขาดีๆ ไม่ต้องแบ่งชั้นวรรณะก็ได้ เป็นต้น

2. เข้าใจในการใช้คน บริหารคน เมื่อเข้าใจทั้งต้วผู้นำ และ เข้าใจคนอื่นๆ การใช้คน หรือ บริหารงานบุคคลก็จะเป็นการง่าย เพียงแต่เข้าใจในธรรมชาติของแต่ละคนว่า มีลักษณะนิสัยเข้ากับงานประเภทใด และต้องรับรู้ว่าคนแต่ละคนมีหน้าที่ หรืองานที่รับผิดชอบมากเท่าใด สามารถรับงาน หรือ จ่ายงานให้ได้อีกหรือไม่...

3. เข้าใจในการสื่อสาร และ สั่งงาน การสื่อสารของผู้นำ จะต้องสื่อให้ผู้ตามเกิดความเข้าใจ เกิดความรู้สึกปราถนาที่จะทำงานนั้นๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประส่งค์ การสั่งงาน ก็จะมีลักษณะตามแต่ละผู้ตาม ผู้ตามที่ต้องใช้คำนุ่มนวล หรือ ผู้ตามที่ต้องใช้คำสั่งลงไป ก็ต้องมองผู้ตามให้ออกเช่นกัน...

โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)

แนวคิดเชิงกลยุทธ์

แนวคิดเชิงกลยุทธ์ - การทำงานให้มีความสุข และ สนุกกับงาน

มีเพื่อนถามว่า จำทำงานอย่างไรให้มีความสุข ซึ่งคนที่จะกล่าวเช่นนี้ออกมาได้ ย่อมมีความรู้สึกว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ เขาจึงต้องการที่จะเปลี่ยนให้มันมีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ ทำให้ผมสงสัยว่า จริงๆแล้ว งานทำให้ทุกข์ หรือ อย่างอื่นที่ทำให้ทุกข์กันแน่...

เมื่อ มีคำถามเกิดขึ้น ก็ต้องหาแนวคิดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์หาคำตอบกันว่า เราควรจะใช้แนวคิดใดดี ผมเลือกใช้ Holistic Thinking และ Context Thinking ในการวิเคราะห์ เบื้องต้นก่อน

การทำงาน ประกอบด้วย การกระทำ ซึ่งเป็นกริยา + งาน ที่เป็นกรรม ดังนั้น สิ่งที่หายไปคือ ประธาน ซึ่งก็คือผู้กระทำลงไป

ส่วนความสุข เกิดจากความพึงพอใจ ความพึงพอใจ เกิดจากการที่ได้ตอบสนองกับความต้องการของตน หรือ มีการตอบสนองต่อความรู้สึกของตน

แต่ทั้งนี้ การทำงาน ก็ยังต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมภายนอก และ ภายในของการทำงาน เช่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ "การทำงานให้มีความสุข" จึงต้องมองให้ถึง 4 ด้าน คือ

1. ตัวบุคคล ตัวตน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน เจ้าของกิจการ หรือ ลูกน้องที่ช่วยงาน

2. การกระทำของบุคคล ทั้ง การทำงาน การกระทำระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน และ ไม่เกี่ยวข้องกับงาน

3. งาน ที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่งานหลัก หรือ งานรองต่างๆก็ตาม

4. ความรู้สึก ของผู้ทำงาน ความรู้สึกระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงลักษณะนิสัยของผู้ทำงานว่ามีนิสัยที่ตรงกับงานหรือไม่

ทั้ง นี้ รายละเอียดต่างๆ และ มุมมอง ในแง่มุมต่างๆ ในกระทู้นี้ อาจจะมีประโยชน์สำหรับ บุคคลที่กำลังทำงาน รวมไปถึงสามารถจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือ ความไม่สบายใจลง ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นถึงปัญหาต่างๆของตนเองได้ด้วยตัวของท่านเอง 




1. ตัวบุคคล ตัวตน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน เจ้าของกิจการ หรือ ลูกน้องที่ช่วยงาน

คน เรามักยึดติดกับตัวตนของเราเป็นส่วนใหญ่ และ สิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนเรานั้นจะเป็นสิ่งที่คนเราแสวงหา ทั้งนี้ เมื่อคนเราเมื่อมีแนวคิดที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง ก็มักจะมองข้ามคนอื่นที่ต้องการตอบสนองความต้องการของตัวเขาเองเช่นเดียวกัน

และแน่นอนว่า การทำงานก็แบ่งออกเป็น 2 อย่างใหญ่ๆคือ
1. การทำงานของตนเองไม่เกี่ยวข้องกับใคร
2. การทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น

การทำงานของตนเอง ส่วนใหญ่เราจะมีความสุขก็เมื่อเราสามารถทำเรื่องนั้นๆให้สำเร็จลงตามที่ต้อง การได้ ทั้งนี้ การแข่งขันกับตนเองจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 เข้ามาประกอบก็จะส่งผลให้การทำงานนั้นๆ บรรลุและมีความสุขคือ

ฉันทะ = ความพึงพอใจในการทำงานนั้น หรือ เต็มใจทำงานนั้น
หรือ ความชอบในงานนั้นๆเป็นทุนเดิม ซึ่งถ้าเรามีความพอใจในงานที่ทำ หรือ ทำงานที่เรากำลังสนใจ หรือ มีนิสัยพื้นฐานตรงกับงานที่ได้รับมอบหมาย ก็จะเป็นพื้นฐานที่จะส่งผลให้เราพยายามที่จะทำ และ จะทำด้วยความพึงพอใจเป็นทุนเดิม ทั้งนี้ ถ้าได้งานที่ไม่ชอบ หรือ ไม่มีความสามารถ ก็ต้องใช้การโน้มน้าวใจให้ชอบกับงานที่ทำ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการสะกดจิตตัวเอง โดยกล่าวกับตนเองเสมอๆว่า "งานนี้เป็นงานที่ฉันสามารถทำได้ งานนี้เป็นงานที่ฉันทำได้ และงานนี้เป็นงานที่จะทำให้ฉันประสบความสำเร็จ" ทั้งนี้ แนววิธีการนี้มีหลายๆสำนักใช้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับผุ้ ที่ท้อแท้อย่างมาก และ กลับกลายมาเป็นคนที่ทำงานได้ดีมามากต่อมากแล้วด้วย

วิริยะ = พากเพียรในการทำงาน
หรือ ความุ่งมั่นในการทำงาน ซึ่งเป็นนิสัยที่จะต้องปลูกให้มีขึ้นในตน ทั้งนี้ คนเรามักมีความพากเพียรในระดับที่แตกต่างกันออกไป คนที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างมาก ก็ต้องอาศัยความพากเพียรตัวนี้ให้มากด้วย แต่ทั้งนี้ ความพยายามที่จะทำ การมีจิตใจที่คิดในแง่ดีของการทำงาน จะเป็นตัวส่งเสริมให้มีการพากเพียรในการทำงานเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีจิตใจที่จดจ่อกับงานที่ทำด้วยถึงจะส่งผลได้ดีเพิ่มมากขึ้น

จิตตะ = การมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงาน
หรือ การกระทำงานนั้นอย่างมีสมาธิ มุ่งมั่น จดจ่อ กับงานที่ทำ ทั้งนี้ การไม่มีสมาธิในการทำงานนั้นๆ ก็จะส่งผลให้เกิดความสับสน ฟุ้งซ่าน แต่การจดจ่อกับงานมากไปก็เป็นผลเสีย ทำให้ความคิดเกิดความรู้สึกเครียดกับงานนั้นๆ ดังนั้น การจะมีจิตใจจดจ่อกับงาน จึงต้องมีสมาธิในงาน และ ไม่จดจ่อกับงานมากจนเกินไป ให้เดินสายกลาง

วิมังสา = การพินิจ วิเคราะห์ และ เข้าใจในการทำงานนั้นๆ
หรือ การเข้าใจในการทำงานของตนเองว่า ต้องทำแต่ละขั้น แต่ละตอนอย่างไรเพื่อให้งานสามารถบรรลุตามความต้องการได้ ซึ่งต้องใช้สติ และ ปัญญามาวิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินการต่างๆให้ลุล่วง



วิธีการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเฉพาะตน
จาก 4 หลักการณ์ทางพุทธศาสนา เราพบว่า การสร้างแรงจูงใจในการทำงานเฉพาะตนให้สำเร็จลุล่วงไปได้นั้น จำเป็นต้องมีขั้นตอนต่างๆ เพื่อจูงใจตนเอง โดยเริ่มจาก
1. พยายามทำใจให้ชอบกับงานที่ทำ หรือ อย่างน้อยต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากงานที่ทำ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สามารถทำงานเหล่านั้นได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ของงานนั้นๆ
2. อาจจะต้องคำนึงถึงผุ้ที่จะรับงานต่อจากเราว่าเขาอาจจะเดือดร้อน ทำให้เราต้องมีการดำเนินการให้เสร็จทันตามกำหนด เพื่อกระตุ้นตนเองให้ทำงานให้เสร็จ
3. เมื่อมีอุปสรรคต่างๆก็อย่าท้อถอย ต้องพยายามทำให้เสร็จ และ ฝีกฝนตนเองให้เป็นคนมุ่งมั่นที่จะทำงานที่อยู่ตรงหน้าให้เสร็จอยู่เสมอๆ เพื่อเป็นพื้นฐานของการทำงานต่างๆต่อไป
4. คบเพื่อนที่ชอบทำงาน เพื่อนที่มีแนวคิดในเชิงบวก เพื่อให้เพื่อนเป็นแรงผลักดันให้เราเป็นคนชอบทำงาน และ คิดดี ทำดี มากขึ้น
5. เมื่อทำงานใด ก็อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่นให้จิตใจจดจ่อกับงาน อย่าวอกแวก หรือ คิดในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างนิสัยการจดจ่อและทำงานให้สำเร็จก่อนที่จะทำงานชิ้นอื่นๆต่อไป
6. หากมีปัญหาส่วนตัว ก็ให้ปล่อยวางอย่าเอามาปะปนกับงานที่กำลังทำ เพราะจะทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงานและจะทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
7. เมื่อมีปัญหา ให้รีบแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มีปัญหาค้างคาอยู่
8. ถ้ามองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้พยายามหาทางป้องกันปัญหาเหล่านั้นเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้น หรือ หากจำเป็นต้องเกิดขึ้นก็สามารถมีวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ หรือ แม้นแต่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ทั้ง นี้ การทำงานจริง เราไม่สามารถทำงานต่างๆด้วยตัวตนของตัวเองได้เพียงอย่างเดียว เราเป็นสัตว์สังคมที่ยังต้องมีสังคมในการทำงานเช่นกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงเป็นตัวแปรที่มีผลต่อความสุขในการทำงานด้วย ทั้งนี้ มีแนวคิดง่ายๆ เพื่อสร้างมุมมองการทำงานระหว่างกันไว้ดังนี้คือ
1. เจ้านาย หรือ นายจ้าง ต้องการอะไร และ เราทำงานแล้วตอบสนองต่อความต้องการนั้นหรือไม่
2. ลูกน้องมีความสามารถในการทำงานมากน้อยเพียงใด และ เราสามารถพัฒนาให้เขามีศักยภาพที่สูงขึ้นได้หรือไม่
3. เพื่อนร่วมงานต้องการอะไร เขามีลักษณะการทำงานอย่างไร เขาต้องการให้เราทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเขาให้เขาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
4. ไม่มีใครรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หากเราไม่บอกใคร..
5. ตำแหน่งหน้าที่ของเรามีหน้าที่อย่างไร และ เราสามารถทำได้มากกว่านั้นหรือไม่เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ

ทั้ง นี้ คำถามข้างต้น จะให้มองถึงความต้องการของคนอื่น และ เราสามารถตอบสนองความต้องการอย่างไรกับเขาได้บ้าง เพราะคนส่วนใหญ่มักมองว่าตนเองต้องการ และ ก็จะกอบโกยสิ่งต่างๆตามที่ตนต้องการ แต่ถ้าเราเริ่มที่จะให้ มองถึงความต้องการของคนอื่นก่อน ถึงแม้นเราจะรู้สึกว่าพวกเขาเอาเปรียบ แต่เราก็จะสร้างคุณค่าของตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้นและเมื่อตนเองมีคุณค่าของ ตนเองมากขึ้น ความพึงพอใจ ความสุขใจ ก็จะเกิดกับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขจากการได้ช่วยเหลือให้คนอื่น สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และ องค์กรก็จะประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกัน 




2. การกระทำของบุคคล ทั้ง การทำงาน การกระทำระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน และ ไม่เกี่ยวข้องกับงาน

เมื่อ มีงาน ก็ต้องทำงานนั้นๆให้สำเร็จเสร็จสิ้นและบรรลุวัตถุประสงค์ของงาน การทำงานจึงต้องมีทั้งแนวความคิดตามอิทธิบาท 4 ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ การทำงานให้มีความสุข จำเป็นต้อง สนุกกับงานด้วย การทำงานให้มีความสุข จึงขึ้นกับการกระทำของเราว่า เราสร้างให้การทำงานนั้นๆมีความสุข และ สนุกในการทำงานหรือไม่

งานบางงานต้องใช้แรงงาน การได้พักผ่อนทางความรู้สึกบ้างก็จะช่วยได้มาก ดังจะเห็นว่า ช่างก่อสร้างส่วนใหญ่ เวลาทำงาน เขาจะเปิดเพลงในสไตล์ของเขาเช่น หมอลำ เป็นต้น ดังๆ ทั้งนี้ ความเหน็จเหนื่อยจากการทำงานหนัก และ ได้ฟังเพลงที่ชอบ ก็จะช่วยให้จิตใจรู้สึกดี และ สามารถทำงานได้มากตามที่ต้องการ

งานบางงานใช้สมองมาก การที่อยู่ในถิ่นที่สามารถสร้างสมาธิในการทำงานได้ดี ก็จะช่วยให้การทำงานที่ต้องใช้สมองสามารถคิด สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถิ่นที่เหมาะกับการทำงานลักษณะนี้ ก็ต้องเป็นสถานที่ๆมีความเงียบในระดับหนึ่ง มีอุณหภูมิที่เหมาะกับร่างกายคือไม่หนาวจนเกินไป และ ไม่ร้อนจนเกินไปนั่นเอง

หรือ งานบางงานต้องติดต่อกับบุคคลอื่นๆ การเป็นคนที่สามารถดึงดูดให้คนที่พบเห็นพึงพอใจ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่องานลักษณะนี้ ทั้งนี้ การแต่งกายก็ดี การใส่น้ำหอมก็ดี หรือแม้นแต่บุคคลิกภาพ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานในลักษณะนี้ทั้งสิ้น เพื่อสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ที่พึงปราถนาต่อผู้พบเห็น และ พูดคุยด้วย เป็นต้น

การสร้างสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายในให้เหมาะกับงานที่ทำ จะเป็นแรงผลักดันให้ ผลของงานออกมาได้ดีขึ้น เมื่อผลของงานที่ดีขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความพึงพอใจต่อผลงานที่ได้รับ

แต่เนื่องจากคนเรา ทำงานนั้น ผลของสิ่งแวดล้อมบางทีก็ส่งผลต่องานที่จะทำด้วย เช่น เมื่อโดนหักอก เสียใจ เศร้าใจ ก็มีผลต่อการทำงาน ดังนั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลให้กับการทำงานนั้น จึงจำเป็นต้องกำจัดให้ได้หากต้องการทำงานให้มีความสุข และ สนุกในการทำงาน

วิธีกำจัดความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ต่อการทำงาน
1. หากเสียใจหรือเศร้าใจในการทำงาน ให้เลือกทำงานที่ใช้แรงงานมากๆ หรือ ให้ติดต่อกับคนอื่นๆมากๆ เพื่อให้เราใช้กำลังกาย และ สมองไปกับการตอบโต้ ณ เวลาปัจจุบันให้มาก เพื่อจะได้ไม่คิดถึงเรื่องที่ผ่านมา
2. หากงานที่ทำเรารู้สึกว่า เป็นงานที่ไม่มีผลงาน ก็ต้องหาข้อดีของงานๆนั้นว่า เป็นงานที่สำคัญ หรือ เป็นงานที่คนอื่นทำแล้วไม่สามารถทำได้ดีเท่าเราเป็นต้น
3. ความรู้สึกว่าเด่นเกินหน้า เป็นที่อิจฉาของเพื่อนร่วมงาน ความรู้สึกนี้จะถ่วงให้เราไม่ยอมที่จะทำงานให้มากขึ้น หรือ ดีขึ้น ทั้งนี้ความอิจฉาริษยาของเพื่อนๆ เป็นแรงที่ส่งผลทางลบต่อการทำงาน ดังนั้น อย่าไปสนใจกับความรู้สึกเหล่านั้น แต่ต้องมองว่า เราต้องสร้างให้คนเหล่านั้น มีความสามารถและโดดเด่นในการทำงานของเขาให้ได้มากขึ้น ก็จะทำให้เรารู้สึกว่า เราเองมีความสำคัญและจะสนุกกับการทำงานต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
4. เจ้านายให้งานมาทำงานมาก ก็ให้มองว่า เจ้านายมอบหมายงานเหล่านั้นเพราะเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่สามารถทำงานเหล่านั้นให้สำเร็จได้ และเจ้านายเขาคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ ก็ย่อมจะสร้างผลงานได้มากกว่าคนอื่นๆด้วย

ให้คิดในแง่บวก หรือ Positive Thinking อยู่เสมอในการจัดการกับความคิด ความรู้สึกของคุณ




3. งานที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่งานหลัก หรือ งานรองต่างๆก็ตาม

การ ทำงานให้มีความสุข และ สนุกกับงานนั้น องค์ประกอบหลักจะอยู่ในเรื่องของงานเสียส่วนใหญ่ ทั้งนี้ งานที่จะทำ จึงเป็นสิ่งที่มีผลกับอนาคตของเราอย่างมาก

งาน แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
1. งานหลักที่ทำ เป็นงานตามหน้าที่ งานตามตำแหน่งที่จะต้องทำ

2. งานเสริมที่ต้องทำ เป็นงานที่อาจจะไม่ได้อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบจริงๆ แต่ก็ต้องทำ หรือ ถ้าทำแล้วงานหลักของเราจะประสบความสำเร็จมากขึ้น

3. งานของเจ้านาย เป็นงานที่ต้องช่วยเหลือเจ้านาย อาจจะมีบางส่วนที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของเรา หรือบางที งานเหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของเรา แต่เจ้านายก็มอบหมายมาให้ดำเนินการ

4. งานขององค์กร เป็นงานที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำงาน แต่เป็นงานสำหรับพัฒนาองค์กร หรือ อาจจะเป็นงานสังสรรต่างๆ ทั้งนี้อาจจะเสียเวลา แต่ก็จะได้ภาพรวมขององค์กรที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องความสามัคคีของแต่ละส่วนในองค์กรเป็นสำคัญ

จาก งาน 4 ลักษณะ ข้างต้น หากเราใช้แนวคิดในเชิง KSF (Key Success Factors) หรือ CSF (Critical Success Factors) เข้ามาประกอบ เราจะพบว่า

งานหลัก เป็นงานที่ทำตามความสามารถของแต่ละบุคคล ดังนั้น งานหลักถ้าจะทำให้สนุกนั้น จึงต้องเหมาะกับบุคคลิกการทำงานของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ถ้าเป็นงานขาย ก็จะต้องเก่งทางด้านการติดต่อสื่อสาร อาจจะรวมถึงการมีคนรู้จักจำนวนมาก เป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้ ลักษณะบุคคลิกของตนเอง กับงานที่ทำ จึงมีผลกับความสุข และ ความสนุกในการทำงานด้วย เช่น หากเป็นคนที่ชอบอยู่เงียบๆ ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า ไม่ชอบการออกสังคม การจะให้เขามาเป็นพนักงานขาย ก็คงจะไม่เหมาะเขาเหล่านั้น ก็อาจจะทำงานให้หน้าที่ได้ไม่ดี

ดังนั้น จึงต้องค้นหาตัวตนของตนเองว่า เหมาะกับงานหรือไม่ ทั้งนี้ ด้วยการเขียนคุณลักษณะของคนที่ควรจะทำงานนั้นๆ และ เขียนคุณลักษณะของตนเองขึ้นมา และวิเคราะห์แต่ละหัวข้อว่า งานที่ทำนั้น เหมาะสมกับลักษณะนิส้ยของตนมากน้อยเพียงใด หรือ คุณลักษณะใดของเราที่เอื้ออำนวยในการทำงานเหล่านั้น ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ออกมาก็จะเห็นว่า ตนเองนั้นเหมาะกับงานที่ทำมากน้อยเพียงใด และ งานที่ทำอยู่เราสามารถทำได้เพราะเหตุใดด้วย

งานเสริมที่ต้องทำ และ งานของเจ้านาย ล้วนแล้วแต่เป็นงานเฉพาะกิจที่จะส่งผลถึงองค์กร และ ส่งผลถึงงานหลักของเรา มีคนหลายๆคนที่เป็น Key Man ขององค์กรที่โดนเจ้านายสั่งงานบ่อยถึงบ่อยที่สุด จนงานหลักแทบจะไม่ได้ทำเลยก็มี ทั้งนี้งานเหล่านี้จึงต้องจัดสรรเวลาในการทำให้ดีไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบกับ งานหลักได้

เมื่อเจ้านายสั่งงานกับคุณเพียงคนเดียว คุณจะทำอย่างไร? เป็นคำถามของหลายๆท่าน ซึ่งถ้าคุณเจอสภาวะเช่นนี้ ก็ให้คาดการณ์ได้เลยว่า คุณเป็นหนึ่งในคนสำคัญของเจ้านายคุณเลยทีเดียว แต่การที่เขามอบหมายงานต่างๆให้คุณมากเกินไปนั้น ก็จะส่งผลกระทบกับงานหลักเช่นกัน ดังนั้น การบอกปฏิเสธจึงควรจะต้องมีบ้างในบางเรื่อง หรือ หากคุณมีลูกน้องก็ต้องกระจายงานเหล่านั้น ให้กับลูกน้องให้ทำงานแต่ละงานด้วย ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันอันเกิดจากความไม่ตั้งใจของเจ้านาย เพื่อการทำงานอย่างมีความสุขของคุณเอง

นอกจากนี้ งานเสริมที่ต้องทำมากที่สุด คือการตรวจสอบคุณภาพของงาน หรือ ของระบบงาน ทั้งนี้ งานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไปตกกับหัวหน้างาน ดังนั้น หากคุณสามารถทำงานเหล่านี้ได้ด้วย นั่นก็หมายถึง คุณมีความสามารถที่มากกว่าคนทำงานทั่วไป ทั้งนี้การตรวจสอบคุณภาพ เป็นงานที่ท้าทาย เมื่อทำได้ก็จะแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของคุณขึ้นว่ามีความสามารถ แต่ในทางกลับกัน การตรวจสอบคุณภาพ ก็หมายถึงการไปจับผิดเพื่อนๆที่ทำงาน ทั้งนี้ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะกดดันจากเพื่อนร่วมงานด้วย จึงต้องมีเทคนิคการเสนองานและตรวจสอบคุณภาพของงานอย่างละมุลละไมด้วย ไม่เช่นนั้น ภาวะกดดันจากเพื่อนร่วมงาน จะทำให้คุณไม่สนุกกับงานที่ทำก็เป็นได้

งานขององค์กร ส่วนใหญ่เป็นงานรื่นเริง ได้พบปะผู้คนต่างแผนก มีเพื่อนใหม่ๆ หรือ แม้นแต่การมีนันทนาการระหว่างกัน ทั้งนี้ หากมีโอกาสได้ทำงานขององค์กร เช่น เป็นกรรมการจัดงาน หรือ อะไรก็ตาม ก็สมควรที่จะทำเพื่อที่จะพักผ่อนอย่างมีคุณค่า นอกจากจะได้สังสรรนันทนาการแล้ว ก็ยังได้เรียนรู้เพื่อนร่วมงานต่างแผนก ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยเหลือให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานต่อไปได้เช่น กัน 




4. ความรู้สึก
ความรู้สึกของผู้ทำงาน ความรู้สึกระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงลักษณะนิสัยของผู้ทำงานว่ามีนิสัยที่ตรงกับงานหรือไม่

เรื่อง นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะบ่งชี้หลักว่า "การทำงานให้มีความสุข และ สนุกกับงาน" ได้นั้นจะมุ่งเน้นประเด็นในเรื่องนี้เป็นสำคัญ สิ่งที่จะมีผลต่อความรู้สึก ว่าจะทำงานให้มีความสุขและสนุกกับงานได้นั้น จะมีองค์ประกอบดังนี้คือ
1. ค่าตอบแทน
2. การกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล
3. ระบบการทำงาน
4. งานที่ได้รับมอบหมาย
5. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน
6. บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการทำงาน



ค่าตอบแทน

เรื่อง ค่าตอบแทนในการทำงานมีผลต่อการดำเนินงานอย่างมาก ทั้งนี้ คนทำงานก็ต้องการค่าตอบแทนที่สูง ในขณะที่ เจ้าของกิจการต้องการจ่ายค่าแรงต่ำ แต่ผลจากการตกลงในการเข้าทำงาน ก็ทำให้คนทำงานพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ตรงที่ การเปรียบเทียบ ค่าตอบแทน ระหว่างกัน ไม่ว่าจะต้องการเปรียบเทียบเอง หรือ มีคนเอาของเราไปเปรียบเทียบ เมื่อเรารู้เข้า ความไม่พอใจในค่าตอบแทนก็จะเริ่มมีขึ้น และ เมื่อมีความไม่พอใจทางด้านค่าตอบแทน ก็จะส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจ และ ทำให้การทำงานไม่มีความสุข ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือน หอกข้างแคร่ของการทำงานขององค์กรที่คอยทิ่มแทงองค์กรหากองค์กรพลั้งเผลอ...

ถ้า คุณเปรียบเทียบรายได้หรือค่าตอบแทน แล้วพบว่า คุณมีรายได้และค่าตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อนๆ คุณจะมีกำลังใจในการทำงาน ภูมิใจในการทำงาน แต่ในทางกลับกัน เพื่อนของคุณก็จะเสียขวัญในการทำงาน หดหู่ในการทำงาน ในทางกลับกัน ถ้าเปรียบเทียบแล้วพบว่า คุณมีรายได้และค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเพื่อนๆ คุณก็จะเสียขวัญในการทำงาน หดหู่ในการทำงาน ไป ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมองทางใด หนึ่งในองค์กรของคนทั้งสอง ก็ต้องเสียผลประโยชน์ หรือ หากคนทั้งสองอยู่ในองค์กรเดียวกันก็ตาม หนึ่งในแผนกนั้น ก็จะได้คนที่ไม่มีใจในการทำงานไปทำ ก็จะทำให้องค์กรรวนอยู่ดี

เด็ก ใหม่ที่เริ่มทำงานมักทำการเปรียบเทียบรายได้เป็นเกณฑ์ แล้วทำให้ตนเองเสียความรู้สึกในการทำงานไป ทำให้ผลงานไม่ดี อยากลาออก อยากหางานใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ผลงานก็ออกมาไม่ดี การประเมินผลก็ไม่ดี ค่าตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นก็เพิ่มขึ้นน้อยเนื่องจากผลงานไม่ดี เป็นผลกระทบลูกโซ่ที่จะทำให้อนาคตไม่ก้าวหน้า แต่ทั้งนี้ เด็กใหม่ก็ชอบที่จะเปรียบเทียบอยู่ดี ทั้งๆที่จะส่งผลเสียให้กับตนเอง

งานทุกงาน มีความรับผิดชอบแตกต่างกัน
คนทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานที่แตกต่างกัน
ตำแหน่งงานเดียวกันแต่ต่างองค์กรก็มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน
ตำแหน่งเดียวกันอยู่คนละส่วนความรับผิดชอบก็แตกต่างกัน
คนแผนกเดียวกันทำงานเหมือนกัน แต่ก็มีความรับผิดชอบต่องานต่างกัน

ในเมื่องานมีความแตกต่าง ทำไมรายได้และค่าตอบแทนของแต่ละคนต้องเหมือนกันอย่างนั้นหรือ ????
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่ตำแหน่งน้อยกว่าเดิม จะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม ตำแหน่งเท่าเดิมจะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่งานหนักจะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่ทำงานวันเสาร์ด้วยจะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่ทำงาน 10 ชั่วโมงไม่มี OT แถมทำงานวันเสาร์ด้วยจะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่ข่าววงในบอกว่าข้างในมีปัญหาจะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...
- ที่ใหม่ให้เงินเดือนเพิ่ม แต่ถ้าเราไม่มีประโยชน์กับเขาแล้วเขาจะไล่เราออกอย่างนี้จะย้ายงานดีไม๊ = ถ้าคิดว่าเงินคือคำตอบก็ย้ายเลย...

ไม่ค่อยมีใครถามนะครับว่า
ได้ เงินเดือนเพิ่ม ตำแหน่งเพิ่ม คุมคน 2-3 คน ทำงานน้อยลง ทำงานสบายๆเดินไปเดินมา ไม่ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อยู่เฉยๆก็ได้เงินเดือน เจ้านายก็ดี ลูกน้องก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี ระบบงานก็ดี องค์กรก็มีชื่อเสียง โบนัสเยอะมากๆ10-20 เดือน ขึ้นเงินต่อปีขั้นต่ำก็ 20% มีประกันชีวิตและสวัสดิการให้มากมาย สมทบเงินทุกเดือนเพื่อเป็นเงินเกษียรให้ถึง 20% ของรายได้ มีพาไปเที่ยวต่างประเทศ 2 ครั้งต่อปี เที่ยวในประเทศ 3 ครั้งต่อปี มีจัดงานรื่นเริงปีใหม่แจกทองคำอย่างต่ำ 1 บาท เข้างานกี่โมงก็ได้ ออกกี่โมงก็ได้ มีรถบริษัทฯ พร้อมค่าน้ำมันให้ไม่จำกัด ไม่มี KPI หรือ ระบบที่จะมาควบคุมการทำงานให้ปวดหัว ไม่ต้องหา Unit Cost ไม่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ ลูกค้าก็ไม่มีปัญหาจ่ายเงินตรงทุกรายและไม่จู้จี้ Supplier ก็ดีส่งของตรงเวลา เก็บเงินเราก็ช้ามากๆ จะย้ายงานดีไม๊??? ซึ่งถ้ามีคำถามอย่างนี้มา ผมคงแนะนำว่า ให้ย้ายไปทำเลยครับ... (แต่หากงานนี้เป็นงานย้ายไปเป็นเมียน้อยเสี่ย มีหน้าที่นอนอย่างเดียว คุณก็ต้องเลือกเองนะครับ ผมไม่สนับสนุนเรื่องอย่างนี้ครับ 5555)

ทั้ง นี้เมื่อมองให้เห็นถึงความเป็นจริงของการจ้างงาน ไม่มีใครจ้างคนทำงานมาทำอย่างข้างบนแน่นอน ไม่มีปัญหาใดก็ปัญหาหนึ่งที่ต้องให้แก้ไข ไม่มีองค์กรใดที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีงานใดที่ไม่มีปัญหา ไม่มีทางที่เขาจะจ่ายเงินให้คุณอยู่เฉยๆ หรือนั่งเล่น Internet ไปวันๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน ก็จะต้องมีจุดบกพร่องของงาน ขององค์กร ของรายได้ ฯลฯ เสมอๆ ค่าแรงรายได้ค่าตอบแทนของแต่ละบุคคล จึงไม่เหมือนกันแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะจ้างคุณไปเพื่อทำสิ่งใดเท่านั้น

เพราะมองไม่เห็นความเป็นจริง ว่า รายได้และค่าตอบแทน จะขึ้นกับความสามารถ ความรับผิดชอบ หน้าที่ และ ผลงานของการทำงาน แต่คนเราก็มองแต่เรื่องค่าตอบแทนเพราะเป็นเรื่องที่ตนเองได้รับผลประโยชน์ โดยไม่มองว่าตนเองเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากน้อยเพียงใดอยู่เสมอ เรื่องความไม่พึงพอใจต่อค่าตอบแทนที่ได้รับ จึงเป็นเรื่องสามัญที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ และ บ่อยๆ ซึ่งคนที่มีปัญหาเรื่องนี้ ก็จะยิ่งมีปัญหาเรื่องนี้ ทำให้งานก็มีปัญหาตาม ถ้าจะแก้ไขความรู้สึกทางลบจากเรื่องนี้ ก็อย่าไปรับรู้เรื่องรายได้ของคนอื่นเลย ถึงแม้นรู้ก็พยายามหาข้อมูลมาเพื่อสนับสนุนความรู้สึก หรือ ถ้าห้ามความรู้สึกไม่ได้ ก็ไปหางานที่ได้เงินมากกว่าปัจจุบันทำไปเลย ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงไปเลยว่า ค่าตอบแทนที่ได้รับต้องแลกด้วยอะไรบ้าง ถึงจะรู้จักตัวตนของตนเองกัน

แค่ขจัดการเปรียบเทียบทางด้านรายได้ค่าตอบแทนออกได้ ก็เท่ากับว่าคุณได้กำจัดปัญหาใหญ่ๆของการทำงานไม่มีความสุขลงไปได้มากแล้ว 


โดย อาจารย์ วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)